การกักเก็บคาร์บอนของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

Main Article Content

สาพิศ ดิลกสัมพันธ์
ดุริยะ สถาพร

บทคัดย่อ

การศึกษากักเก็บคาร์บอนของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนาในจังหวัดฉะเชิงเทรา สองการทดลอง ได้แก่ การทดสอบสายต้น หรือโคลน (clone) ไม้ยูคาลิปตัส จำนวน 4 สายต้น และการทดสอบระยะปลูก 5 ระยะ ของสายต้น K51 โดยในแต่ละการทดลองดำเนินการศึกษาในพื้นที่เกษตรกร 2 พื้นที่ เมื่อต้นไม้อายุ 3 ปี เก็บตัวอย่างของลำต้น กิ่ง ใบ และราก จำนวน 6-8 ต้นต่อสายต้น เพื่อวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอน (carbon content) เก็บข้อมูลความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก (1.30 เมตร) ของต้นไม้ทั้งหมดในแต่ละพื้นที่ศึกษา ประมาณค่ามวลชีวภาพของส่วนต่างๆ ของต้นไม้ด้วยสมการแอลโลเมตรี และประมาณค่าการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพจากค่ามวลชีวภาพและปริมาณคาร์บอน


ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าปริมาณคาร์บอน มีการแปรผันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างส่วนต่างๆ ของต้นไม้ (ลำต้น กิ่ง ใบ และราก) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสายต้น โดยศักยภาพของการสะสมคาร์บอนในมวลชีวภาพของไม้ยูคาลิปตัสขึ้นอยู่กับมวลชีวภาพมากกว่าปริมาณคาร์บอนในมวลชีวภาพ โดยการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสายต้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างพื้นที่ปลูก ในขณะที่การกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวมมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งระหว่างสายต้นและพื้นที่ปลูก อย่างไรก็ตาม สายต้น K58 มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวมสูงสุด รองลงมาคือ สายต้น K59 โดยมีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเท่ากับ 6.24-6.50 และ 4.33-6.00 กิโลกรัม/ต้น/ปี ขึ้นกับพื้นที่ปลูก นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระยะปลูกต่างๆ ของไม้ยูคาลิปตัสสายต้น K51 พบว่า การกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติระหว่างระยะปลูก และระหว่างพื้นที่ปลูก โดยไม้ยูคาลิปตัสระยะปลูก 2.0 และ 2.5 เมตร มีการกักเก็บคาร์บอนต่อต้นสูงสุด แต่ระยะปลูก 0.5 เมตร มีการกักเก็บคาร์บอนต่อพื้นที่สูงสุดเนื่องจากมีจำนวนต้นไม้มากกว่า อาจกล่าวได้ว่าการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนามีการแปรผันในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิระหว่าง 11.95-51.96 กิโลกรัม/ต้น/ปี หรือ 1.28-6.16 ตัน/ไร่/ปี ขึ้นอยู่กับสายต้น ระยะปลูก และ/หรือ พื้นที่ปลูก ดังนั้น การคัดเลือกสายต้นที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก และ/หรือ การเลือกระยะปลูกที่เหมาะสมน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของการกักเก็บคาร์บอนของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา


คำสำคัญ: ยูคาลิปตัส สายต้น ระยะปลูก คันนา ปริมาณคาร์บอน การกักเก็บคาร์บอน

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ