แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมและพัฒนาพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางบกอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

Main Article Content

นิษฐา ภูษาชีวะ

บทคัดย่อ

แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมและพัฒนาพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางบกอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สภาพทางกายภาพ การจัดการปัญหาทางด้านการออกแบบ และการจัดการในเขตพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางบก และแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงทางด้านสถาปัตยกรรมและการจัดการพื้นที่เขตให้บริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางบก โดยที่อุทยานแห่งชาติสามารถพัฒนาคุณภาพของพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยมีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ได้เลือกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่เขตบริการนักท่องเที่ยวหลายบริเวณ รวมทั้งมีการจัดการเขตให้บริการแบ่งออกเป็นหลายแบบตามกิจกรรมในแต่ละเขต พื้นที่เขตบริการที่ศึกษาประกอบด้วย เขตบริการที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เขตบริการแคมป์บ้านกร่าง และเขตบริการเขาพะเนินทุ่ง ประเด็นในการทำวิจัยแบ่งออกเป็น ประเด็นทางด้านการออกแบบ และประเด็นทางด้านการจัดการ โดยทั้งสองกลุ่มได้ทำการศึกษาจากข้อมูลทุติยภูมิ เอกสาร บันทึกต่าง ๆ การสำรวจภาคสนาม และ การทำแบบสอบถาม พบว่า ในปัจจุบันทางอุทยานฯ มีความพยายามที่จะพัฒนา และจัดการพื้นที่บริการนักท่องเที่ยวทั้งสามเขตให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการทางการจัดการต่าง ๆ มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบ แต่เนื่องจากขาดการวางผังบริเวณตั้งแต่แรก จึงทำให้เขตบริการเกิดปัญหาด้านการใช้งานในเขตบริการ เช่น ทางสัญจรวกวน ขาดความต่อเนื่องของกิจกรรม การใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ไม่สะดวก แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ เกิดปัญหาการจราจร เป็นต้น ส่วนความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในเรื่องรูปแบบการท่องเที่ยว พบว่า  ถึงแม้จะมีความสนใจในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่ยังเคยชินกับความสะดวกสบาย และมีความต้องการที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นหลัก เขตบริการที่นักท่องเที่ยวมีความสนใจในรูปแบบที่พักที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ มีเพียงเขตบริการแคมป์บ้านกร่างเท่านั้น เนื่องจาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่   ยังไม่มีความรู้พื้นฐานในการท่องเที่ยวด้านนี้อย่างเพียงพอ รวมทั้ง กิจกรรมและการบริการที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ยังไม่ชัดเจน จึงควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างทางอุทยานแห่งชาติและชุมชน ในด้านการสร้างจุดเด่นของพื้นที่ควบคู่กับการพัฒนาสภาพทางกายภาพและบริการของเขตบริการ รวมทั้งการให้ความรู้กับประชาชนในการท่องเที่ยวรูปแบบยั่งยืน


คำสำคัญ:  ความยั่งยืน  การออกแบบสถาปัตยกรรม  พื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติ  

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ