การเติบโตของกล้าไม้กฤษณาภายใต้ความเข้มแสงที่ต่างกัน

Main Article Content

ชนะ ผิวเหลือง
กรกฎ สายแวว

บทคัดย่อ

การเติบโตของกล้าไม้กฤษณาภายใต้ความเข้มแสงที่ต่างกัน ได้ดำเนินการศึกษาที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ภาคกลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยใช้แผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design) มีทั้งหมด 5 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1: เปิดโล่งหรือไม่คลุมเรือนเพาะชำด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสงทั้งห้าด้าน, กรรมวิธีที่ 2: คลุมเรือนเพาะชำด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 70% เฉพาะด้านบน, กรรมวิธีที่ 3: คลุมเรือนเพาะชำด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 50% โดยรอบห้าด้าน และกรรมวิธีที่ 4: คลุมเรือนเพาะชำด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 80% โดยรอบห้าด้าน กล้าไม้อยู่ภายใต้ความเข้มแสงในแต่ละกรรมวิธี นาน 12 เดือน ตลอดเวลา และ กรรมวิธีที่ 5: ความเข้มแสงที่เพิ่มขึ้นจากกรรมวิธีที่มีความเข้มแสงน้อยกว่าไปยังกรรมวิธีที่มีความเข้มแสงมากกว่าทุกๆ ช่วงระยะเวลา 3 เดือน โดยกล้าไม้อยู่ภายใต้ความเข้มแสงในกรรมวิธีที่ 4, 3, 2 และ 1 ตามลำดับ เป็นระยะเวลา 3 เดือนต่อกรรมวิธี และแต่ละกรรมวิธีมี 4 ซ้ำ ทำการตรวจวัดความสูง ความโตที่ระดับคอราก และการรอดตายของกล้าไม้เมื่อกล้าไม้มีอายุครบ 1, 3, 6, 9 และ 12 เดือน ตามลำดับ ผลการศึกษา พบว่า การรอดตาย และ ความสูงและความโตของกล้าไม้กฤษณาภายใต้ความเข้มแสงที่แตกต่างกันห้ากรรมวิธี มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อกล้าไม้มีอายุ 6-12 เดือน และ 1-9 เดือน ตามลำดับ การรอดตายและการเติบโตของกล้าไม้ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ เมื่อกล้าไม้มีอายุ 1-3 เดือน และ 12 เดือน ตามลำดับ โดย กรรมวิธีที่ 4 ทำให้กล้าไม้มีการรอดตาย การเติบโตทางความสูงและความโตมากที่สุด แต่ กรรมวิธีที่ 1 และ 2 ทำให้กล้าไม้มีการรอดตายและการเติบโตต่ำที่สุด เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เรือนเพาะชำที่คลุมด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 80% โดยรอบห้าด้านเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูกล้าไม้กฤษณาในระยะเรือนเพาะชำ และกล้าไม้กฤษณาอายุ 6 เดือน ที่เลี้ยงดูอยู่ในเรือนเพาะชำที่คลุมด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 80% โดยรอบห้าด้าน เป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะนำกล้าไม้ชนิดนี้ไปเลี้ยงดูต่อไปในเรือนเพาะชำที่คลุมด้วยตาข่ายพลาสติกพรางแสง 50% โดยรอบห้าด้าน


คำสำคัญ: ไม้กฤษณา ความเข้มแสง การรอดตาย การเติบโตของกล้าไม้

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ