ชีววิทยาดอกของไม้กฤษณา

Main Article Content

สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ
พวงพรรณ ยงรัตนา
วิฑูรย์ เหลืองวิริยะแสง
วัฒนชัย ตาเสน
ประวัติศาสตร์ จันทรเทพ
สุชาดา แสงทับทิม

บทคัดย่อ

กฤษณาเริ่มออกดอกตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมและทยอยบานไปถึงเดือนพฤษภาคม ระยะดอกย่อย พัฒนาเป็นช่อดอกถึงระยะดอกพัฒนาเต็มที่และบานใช้เวลา 3 สัปดาห์ ดอกที่ไม่ได้รับการผสมเกสรหรือผสมไม่ติด จะร่วงภายใน 5 วัน ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วย หลอดกลีบเลี้ยง หลอดกลีบดอก  วงเกสรเพศผู้ และวงเกสรเพศเมีย เรณูเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-25 ไมครอน มีผนังแบบ gemmate ยอดเกสรเพศเมีย มีรูปร่างเป็นกระจุกกลม ยาว 0.7 มม. มีผิวขรุขระแบบ papillae ดอกเริ่มบานในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 น ถึงเวลา 18.30 น แต่ส่วนใหญ่บานเต็มที่ เวลา 18.00 น เกสรต่างเพศในดอกเดียวกันแก่ไม่พร้อมกัน แบบ protandry  ค่าเฉลี่ยจำนวนเรณูต่ออับเรณูของไม้กฤษณาคือ 1,937 และจำนวนเรณูต่อดอก (แต่ละดอกมี 10 อับเรณู) คือ 18,956  ค่าสัดส่วนของจำนวนเรณูต่อออวูล (P/O ratio) คือ 9,685.5 ซึ่งจัดว่ามีระดับการผสมข้ามสูง ที่เรียกว่า obligate xenogamy หรือกล่าวได้ว่า กฤษณาจำเป็นต้องได้รับการผสมข้ามในการสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติ อัตราการติดผลตามธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (2.23%) และอัตราการติดผลของการผสมเกสรในตัวเอง พบว่า  ไม่มีช่อดอกใดติดผลเลย  ค่าความสำเร็จการสืบต่อพันธุ์ของกฤษณา มีค่าเฉลี่ยต่ำ คือเท่ากับ 0.05 โดยปรากฏการณ์ที่ดอกจำนวนน้อยที่สามารถเจริญพัฒนาไปเป็นผล แต่ออวูลส่วนใหญ่สามารถพัฒนาเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ บ่งชี้ว่าการร่วงหล่นของผลเกิดขึ้นในอัตราสูงกว่าการชะงักการเจริญเติบโตของเมล็ด    


คำสำคัญ: กฤษณา การพัฒนาดอก ค่าสัดส่วนของจำนวนเรณูต่อออวูล การผสมเกสร ความสำเร็จของการสืบพันธุ์

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ