ผลกระทบของวัสดุเพาะต่อการงอกของเมล็ดไม้กฤษณา

Main Article Content

ชนะ ผิวเหลือง
ชัยสิทธิ์ เลี้ยงศิริ
จุติเทพ โพธิปักษ์
กรกฏ สายแวว

บทคัดย่อ

การศึกษาผลกระทบของวัสดุเพาะต่อการงอกของเมล็ดไม้กฤษณา ได้ดำเนินการที่เรือนเพาะชำของศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ภาคกลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ใช้วัสดุเพาะทั้งหมด 11 ชนิด/กรรมวิธี ได้แก่ หน้าดิน, ทรายละเอียด, ขี้เถ้าแกลบ, ขุยมะพร้าว, หน้าดินผสมทรายละเอียด (อัตราส่วน 1:1), หน้าดินผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1), หน้าดินผสมขุยมะพร้าว (อัตราส่วน 1:1), ทรายละเอียดผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1), ทรายละเอียดผสมขุยมะพร้าว (อัตราส่วน 1:1), ขี้เถ้าแกลบผสมขุยมะพร้าว (อัตราส่วน 1:1) และหน้าดินผสมทรายละเอียดผสมขี้เถ้าแกลบผสมขุยมะพร้าว (อัตราส่วน 1:1:1:1) แต่ละกรรมวิธีมี 4 ซ้ำ ราดวัสดุเพาะด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา (Benlate) ก่อนและหลังเพาะ และพ่นสองสัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง ภายหลังจากการเพาะเมล็ดไม้ บันทึกข้อมูลการงอกของเมล็ดไม้ทุกวันและใช้ระยะเวลาในการทดสอบการงอกนาน 30 วัน เมื่อสิ้นสุดการงอก คำนวณหาเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดไม้ทั้งหมด อัตราการงอกที่ 50% ของการงอกจริง ค่าการงอก และดัชนีการงอกของเมล็ดไม้ ผลการศึกษาพบว่า เมล็ดไม้กฤษณาเพาะในวัสดุเพาะทั้งสิบเอ็ดชนิดมีเปอร์เซ็นต์การงอกทั้งหมด  ค่าการงอก ค่าดัชนีการงอก และอัตราการงอกที่ 50% ของการงอกจริง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพที่แตกต่างกันของวัสดุเพาะแสดงผลกระทบอย่างไม่ชัดเจนต่อการงอกของเมล็ดไม้กฤษณา แต่ความสามารถในการอุ้มน้ำในปริมาณที่น้อยมากของวัสดุเพาะอาจมีผลต่อการงอกของเมล็ดไม้ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า วัสดุเพาะทั้งสิบเอ็ดชนิดไม่มีผลกระทบต่อการงอกของเมล็ดไม้กฤษณา สามารถเลือกใช้วัสดุเพาะชนิดใดชนิดหนึ่งจากสิบเอ็ดชนิดสำหรับการเพาะเมล็ดไม้ชนิดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เสนอแนะให้เลือกหน้าดินผสมขุยมะพร้าว ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุเพาะเมล็ดไม้กฤษณา

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ