ผลกระทบของการจัดการพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุงต่อปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการไหลของน้ำ

Main Article Content

สามัคคี บุณยะวัฒน์
สิทธิชัย ตันธนะสฤษดิ์
สัมฤทธิ์ ยินเจริญ

บทคัดย่อ

ผลกระทบของการจัดการพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ต่อปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการไหล ของน้ำ ได้ดำเนินการศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย ระหว่างช่วงเดือนกันยายน 2531 ถึงเดือนสิงหาคม 2532 โดยอาศัยข้อมูลการตรวจวัดน้ำ จากกรมชลประทานเขต 2 จังหวัดลำปาง ที่ทำการตรวจวัดน้ำในลำห้วยและฝายรวม 30 จุด โดยใช้ weir 90°v-notch แบบชั่วคราว ส่วนข้อมูล คุณภาพน้ำได้ทำการเก็บข้อมูลของลำน้ำย่อยที่ไหลลงห้วยแม่ไร่ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักฯ) จำนวน 9 จุด ใน 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคม 2532 และช่วงต้นฤดูฝน คือ เดือน พฤษภาคม 2532 เพื่อ ทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางกายภาพ และสารพิษจากยาฆ่าแมลง ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 773,401 ลบม./ตร.กม. หรือ 778.4 มม. คิดเป็น 35.7 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี โดยเป็นน้ำไหลในช่วงฤดูฝน 586.6 มม. หรือ 75.8 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำในลำธารทั้งหมด และเป็นน้ำไหลในช่วงฤดูแล้ง 186.8 มม. หรือ 24.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมี ปริมาณน้ำไหลในลำธารสูงสุดในเดือนกันยายน (143.5 มม.) และต่ำสุดในเดือน เมษายน (25.5 มม.) แสดงว่ายังมีน้ำไหลตลอดปี และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทางกายภาพ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำธรรมชาติ ยกเว้นค่าความขุ่น (74.1 JTU) ที่วัดได้เกินค่ามาตรฐาน (50 JTU) และสีของน้ำ (403.1 หน่วย) ซึ่งมี ค่ามาตรฐาน 100 หน่วย ทั้งนี้เนื่องจากการพังทลายของดินจากการก่อสร้างถนนไปยังพระตำหนักๆ ส่วน สารพิษจากยาฆ่าแมลง ตรวจวัดได้น้อยมาก และไม่เกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตราย ทั้งนี้อาจเนื่องจากยังไม่ถึงช่วงเวลาการใช้ยาฆ่าแมลงของชาวเขา ซึ่งมักใช้หลังจากที่พืชผลเจริญงอกงามดีแล้ว แต่ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล ชาวเขาพึ่งเริ่มทำการปลูกพืชเกษตรกรรม ดังนั้นพอสรุปได้ โครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุง ในช่วงที่ทำการศึกษา ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อด้านปริมาณ และช่วงเวลาการไหลของน้ำมากนัก แต่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบ้าง โดยเฉพาะความขุ่นและสีของน้ำ เนื่องจากการตัดถนนมีผลทำให้ดินพังทลายและถูกพัดพาลงมากับน้ำ ส่วนสารพิษจากยาฆ่าแมลง ยังตรวจไม่พบ น่าจะได้ทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำภายหลังจากที่ชาวเขาได้ใช้ยาฆ่าแมลงแล้ว รวมทั้งวิเคราะห์คุณสมบัติของดินตะกอนด้วย

Downloads

Article Details

How to Cite
บุณยะวัฒน์ ส., ตันธนะสฤษดิ์ ส., & ยินเจริญ ส. (2022). ผลกระทบของการจัดการพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุงต่อปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการไหลของน้ำ. วารสารวนศาสตร์ไทย, 10(2), 81–95. สืบค้น จาก https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tjf/article/view/256440
บท
นิพนธ์ต้นฉบับ