การเจริญเติบโตและการรอดตายของสวนป่าไม้โกงกางใบเล็กของเอกชนในท้องที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

Main Article Content

ดุสิต เวชกิจ

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโตและการรอดตายของสวนป่าไม้โกงกางใบเล็กของเอกชน ได้ดำเนินการศึกษาในท้องที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบการเจริญเติบโตทางด้านความสูง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมวลชีวภาพและปริมาตร ตลอดจนการรอดตายของสวนป่า ไม้โกงกางใบเล็ก ชั้นอายุต่างกันตั้งแต่ 1-15 ปี ทำการศึกษาโดยวางแปลงตัวอย่างทดลองชั่วคราว ขนาด 10x10 ตารางเมตร ชั้นอายุละ 1 แปลง วัดการเจริญเติบโตทางความสูงและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้ในสวนป่าที่ระดับความสูงเพียงอก (DBH) และหาค่าเฉลี่ยของต้นไม้ที่วัดในแต่ละแปลงทดลอง การเจริญเติบโตทางมวลชีวภาพ ปริมาตรของสวนป่าโดยอาศัยมวลชีวภาพ ปริมาตรของสวนป่าแต่ละชั้นอายุได้จากวิธีการตัดต้นไม้ตัวแทน แล้วใช้ความสัมพันธ์ทาง Allometric method และหาการรอดตายของสวนป่าโดยอาศัยจำนวนต้นไม้ที่ปรากฏในแต่ละชั้นอายุเทียบกับจำนวนต้นที่ปลูกครั้งแรก ผลจากการศึกษาพบว่า ความสูงเฉลี่ยของสวนป่าอยู่ระหว่าง 0.45-12.36 เมตร อัตราการเจริญเติบโตทางความสูงมีมากที่สุดเมื่อสวนป่าอายุ 11 ปี และมีน้อยที่สุดเมื่อสวนป่าอายุ 1 ปี โดยมีความสูงเพิ่มขึ้น 1.56 และ 0.45 เมตร/ปี ตามลำดับ สำหรับขนาด DBH ของสวนป่าอยู่ระหว่าง 0-6.26 ซม. อัตราการเจริญเติบโตทาง DBH มีมากที่สุดเมื่อสวนป่าอายุ 12 ปี และมีน้อยที่สุดเมื่อสวนป่าอายุ 8 ปี โดยมี DBH เพิ่มขึ้น 0.87 และ 0.14 ซม. ตามลำดับ มวลชีวภาพ (น้ำหนักแห้ง) รวมของสวนป่ามีประมาณ 0.64-251.09 ตัน/เฮกแตร์ และปริมาตรรวมของสวนป่ามีประมาณ 0.60-233.56 ม2/เฮกแตร์ อัตราการเจริญเติบโตทางมวลชีวภาพ และปริมาตรของสวนป่าพบว่ามีมากที่สุดเมื่อสวนป่าอายุ 14 ปี โดยมีเพิ่มขึ้น 59.09 ตัน/เฮกแตร์/ปี และ 67.79 ม.3/เฮกแตร์/ปี ตามลำดับ สำหรับการรอดตายของสวนป่ามีแนวโน้มว่าลดลงเมื่อสวนป่ามีอายุมากขึ้น ช่วงสวนป่าอายุ 18 ปี มีการรอดตายประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ช่วงสวนป่าอายุ 9-12 ปี มีการรอดตายประมาณ 76-53 เปอร์เซ็นต์ และช่วงสวนป่าอายุ 13-15 ปี มีการรอดตายเหลือเพียง 45-41 เปอร์เซ็นต์

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ