การกระจายช่องว่างขนาดต่างๆ ของดินในป่าดิบชื้น และสวนยางพาราในภาคใต้ ของประเทศไทย

Main Article Content

สามัคคี บุณยะวัฒน์
ชัยวัฒน์ คงสม

บทคัดย่อ

การศึกษาการกระจายช่องว่างขนาดต่าง ๆ ของดินในป่าดิบชื้นและสวนยางพาราบริเวณลุ่มน้ำภาคใต้ของประเทศไทย โดยทำการเก็บตัวอย่างดิน ๒ ระดับคือ ๐-๒๕ และ ๒๕-๕๐ ซม. ตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำต่างๆ กัน มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาการกระจายช่องว่างขนาดต่าง ๆ ของดิน และสมบัติทางฟิสิกส์อื่นๆ ของดินบริเวณป่าดิบชื้นกับสวนยางพารา และเปรียบเทียบผลของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดิบชื้นไปเป็นสวนยางพาราต่อการกระจายช่องว่างขนาดต่างๆ ของดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเก็บกักน้ำ การระบายน้ำ และลักษณะการทำน้ำของดิน โดยใช้ตัวอย่างดินแปรสภาพและดินคงสภาพในการทดลองหาสัมประสิทธิ์การนำของดินขณะอิ่มตัวและหาความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกำกับก้อนดินกับระดับความชื้นของดินเพื่อวิเคราะห์การกระจายช่องขนาดต่าง ๆ ของดิน จากผลการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การกระจายช่องว่างขนาดต่างๆ ของดินในป่าดิบชื้นและสวนยางพารามีความแตกต่างกัน โดยปริมาณช่องว่างขนาดใหญ่ที่ให้การระบายน้ำและเก็บกักน้ำ (๘.๖-> ๒๔.๘ µm) ของในชั้นบน (๐-๒๕ ซม.) ในป่าดิบชื้นและสวนยางพารามีค่า ๒๖.๒๐ และ ๑๗.๙๖ เปอร์เซ็นต์ ส่วนดินชั้นล่าง (๒๕-๕๐ ซม.) มีค่า ๒๔.๘๑ และ ๑๘.๓๗ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และปริมาณช่องว่างขนาดเล็กที่เก็บไว้ให้พืชใช้ (๐.๒-๘.๖ µm) ของดินชั้นบน มีค่า ๖.๐๖ และ ๔.๕๗ เปอร์เซ็นต์ ส่วนดินชั้นล่างมีค่า ๔.๐๕ และ ๔.๒๖ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าป่าดิบชื้นมีช่องว่างขนาดใหญ่สูงกว่าในสวนยางพารา แต่มีช่องว่างขนาดเล็กน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากป่าดิบชื้นเป็นสวนยางพารานั้น มีผลทำให้การกระจายช่องว่างขนาดต่างๆ ในดินบนลดลง ๒.๔๙% และดินชั้นล่างลดลง ๐.๓๖% นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณช่องว่างขนาดใหญ่ที่ให้การระบายน้ำ และเก็บกักน้ำของดินชั้นบนลดลง ๘.๒๔ เปอร์เซ็นต์ และดินชั้นล่างลดลง ๖.๔๔ เปอร์เซ็นต์ ส่วนปริมาณช่องว่างขนาดเล็กที่เก็บกักน้ำไว้ให้พืชใช้ ดินชั้นบนเพิ่มขึ้น ๒.๕๑ เปอร์เซ็นต์ แต่ในดินชั้นล่างลดลง ๔.๒๑ เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้การเก็บกักน้ำและการระบายน้ำลดลงโดยการระบายน้ำดูได้จากค่าสัมประสิทธิ์ การนำน้ำของดินขณะอิ่มตัว ซึ่งลดลงคือดินชั้นบนลดลงจาก ๑๓๑.๘๗ x ๑๐-๔ ซม. / วินาที เป็น ๗๖.๑๙ x ๑๐-๔ ซม. / วินาที ดินชั้นล่างจาก ๑๒๑.๙๕ x ๑๐-๔ ซม. / วินาที เป็น ๗๑.๕๒ x ๑๐-๔ ซม. / วินาที ดังนั้นพอสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดิบชื้นไปเป็นสวนยางพารา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระจายช่องว่างขนาดต่างๆ ของดิน คุณสมบัติทางฟิสิกส์อื่นๆ ของดิน ซึ่งมีผลทำให้ลักษณะทางอุทกวิทยาของดินเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง อันส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ ที่ผ่านมา

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ