รูปแบบของระบบวนเกษตรสำหรับจังหวัดลำปาง

Main Article Content

บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์
สันต์ เกตุปราณีต
ประคอง อินทรจันทร์
สุนันทา ขจรศรีชล

บทคัดย่อ

การศึกษารูปแบบของระบบวนเกษตรที่น่าจะเหมาะสมสำหรับจังหวัดลำปางครั้งนี้ได้กระทำโดยการตรวจเอกสารควบคู่กับการสำรวจภาคสนาม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการเบื้องต้น สภาพความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐสังคมของราษฎร พืชพันธุ์ดั้งเดิมและพืชพันธุ์ที่ราษฎรคุ้นเคยกับวิธีการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และลักษณะดิน สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศของจังหวัดลำปาง รูปแบบของระบบวนเกษตรที่เหมาะสมในที่นี้วัดจากข้อกำหนด ๔ ประการ คือรูปแบบนั้นต้องได้รับการยอมรับจากราษฎรในท้องถิ่น เป็นรูปแบบในระดับเพื่อยังชีพไม่ใช่ระดับเชิงพาณิชย์ พื้นที่เพาะปลูกต้องมีขนาดเล็ก และต้องถือว่าพืชกสิกรรมหรือพืชอาหารสัตว์เป็นพืชประธาน โดยมีพันธุ์ไม้ป่าหรือไม้ยืนต้นเป็นพืชแทรก จากข้อกำหนดดังกล่าวผนวกเข้ากับสภาสภาพแวดล้อมของจังหวัดลำปาง ทำให้สามารถแบ่งรูปแบบวนเกษตรออกได้ ๑๓ รูปแบบ โดยจำแนกตามระดับการยอมรับของราษฎรได้ ๓ กลุ่มคือกลุ่มที่ ๑ ราษฎรยอมรับได้ในระดับสูงมี ๔ รูปแบบ คือ การปลูกไม้ผลยืนต้นแทรกในนาข้าว การปลูกไม้ผลยืนต้นควบพืชไร่ การปลูกไม้ผลยืนต้นควบพืชอาหารสัตว์ และระบบวนเกษตรแบบผสมผสาน กลุ่มที่ ๒ ราษฎรยอมรับได้ในระดับปานกลางมี ๓ รูปแบบ คือ การปลูกไม้ไผ่ในนาข้าว การปลูกไม้ไผ่ควบพืชไร่ และการปลูกไม้ไผ่ควบพืชอาหารสัตว์ และกลุ่มที่ ๓ ราษฎรยอมรับได้ในระดับต่ำมี ๖ รูปแบบ คือ การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สำหรับแปรรูปหรือใช้สอยแทรกในนาข้าว การปลูกไม้สำหรับใช้ทำฟืนเผาถ่านแทรกในนาข้าว การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่แทรกในแปลงพืชไร่ การปลูกไม้สำหรับใช้ทำฟืนเผาถ่านแทรกในแปลงพืชไร่ การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ควบพืชอาหารสัตว์ และการปลูกไม้สำหรับใช้ทำพื้นเผาถ่านควบพืชอาหารสัตว์

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ