การประเมินผลได้จากการลงทุนทำไม้โครงการเขื่อนเขาแหลมขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

Main Article Content

ประคอง อินทรจันทร์
เกษม วัยวุฒิ

บทคัดย่อ

การศึกษาการประเมินผลได้จากการลงทุนทำไม้เขื่อนเขาแหลม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๘ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป. ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการทำไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงขั้นตอนและวิธีการทำไม้ของโครงการทำไม้เขื่อนเขาแหลม การประมาณต้นทุนและผลได้จากการทำไม้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ และศึกษาอุปสรรคในการทำไม้เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขการทำไม้ของเพื่อนอื่นต่อไป การศึกษาในครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำไม้ รายได้ ต้นทุน และอุปสรรคเกี่ยวกับการทำไม้จากโครงการทำไม้เขื่อนเขาแหลม และฝ่ายทำไม้ภาคตะวันตกและใต้ อ.อ.ป. ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งปรากฏผลดังนี้ ขั้นตอนส่วนใหญ่ในการทำไม้ของโครงการทำไม้เขื่อนเขาแหลม จะคล้ายกับการทำไม้โดยทั่ว ๆ ไปของกรมป่าไม้ เว้นแต่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ใช้ระบบตัดหมด มีการแยกขนาดจำกัดของไม้ชนิดต่าง ๆ ที่จะใช้ทำไม้ซุง แต่สำหรับไม้ที่มีขนาดวัดรอบเพียงอกเกิน ๑๐๐ เซนติเมตร จะถูกคัดเลือกออกทั้งหมด สำหรับการอนุญาตไม่ต่ำกว่าขนาดจำกัด และขนาดที่ยอมให้ทำไม้ซุงได้ จะอนุญาตไม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นเหตุให้การทำไม้เกิดความยุ่งยาก เพราะจะต้องย้อนกลับมาทำไม้ในพื้นที่เดิมอีก การล้มไม้จะเริ่มดำเนินการทันที หลังจากได้รับอนุญาตให้ทำไม้แทนที่จะรอให้ถึงฤดูฝนในเดือนมิถุนายนเหมือนกับการทำไม้ทั่วไป การตีตราเพื่อชักลากในป่าจะดำเนินการโดยพนักงาน อ.อ.ป. แทนเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ สำหรับการตีตราเพื่อคำนวณค่าภาคหลวงนั้นจะทำในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากป่าไม้เขต เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัด และพนักงาน อ.อ.ป. ร่วมกันดำเนินการตีตราเพื่อคำนวณค่าภาคหลวงที่หมอนไม้ หลังจากลากไม้รวมหมอนและตีตราภาคหลวงแล้ว ไม้ดังกล่าวจะถูกประมูลขายหรือส่งให้แก่ฝ่ายการค้าไม้ซุง และโรงเลื่อย อ.อ.ป. ที่กรุงเทพฯ โดยรถยนต์เพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับผลการทำไม้ในช่วงเวลา ๕ ปี โครงการทำไม้เขื่อนเขาแหลมทำไม้ออกได้ ๒๐๐,๑๒๓ ต้น หรือ ๒๑๔, ๕๔๔ ท่อน ปริมาตร ๒๗๓,๑๒๖.๖๘ ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ ๕๗.๒๒ ของไม้ที่คัดเลือกทั้งหมด การประมาณค่าผลได้และต้นทุน อัตราส่วนผลได้และต้นทุน มูลค่าปัจจุบันสุทธิ และอัตราผลตอบแทนของโครงการมีผลดังนี้ ณ ระดับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๙ ผลได้ทั้งหมด ต้นทุนทั้งหมด และมูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ ๒๒๖,๑๐๑,๐๖๒.๒๐, ๑๘๕,๘๐๔,๕๘๗.๖๐ และ ๔๐,๒๙๖,๕๗๔.๖๐ บาท ตามลำดับ อัตราส่วนผลได้และต้นทุนเท่ากับ ๑.๒๒ ณ ระดับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ผลได้ทั้งหมด ต้นทุนทั้งหมด และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ์ เท่ากับ ๒๐๘,๕๖๘,๓๘๗.๖๒, ๑๗๔,๕๐๑,๐๕๐.๑๙ และ ๓๔,๐๖๗,๓๗๗.๔๓ บาท ตามลำดับ อัตราส่วนผลได้และต้นทุน เท่ากับ ๑.๒๐ ณ ระดับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ผลได้ทั้งหมด ต้นทุนทั้งหมดและมูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ ๑๙๒,๙๕๕,๘๑๙.๒๙, ๑๖๔,๓๐๙,๖๔๓.๖๓ และ ๒๘,๖๔๖,๑๗๕.๖๖ บาท ตามลำดับ อัตราส่วนผลได้และต้นทุนเท่ากับ ๑.๑๗ การวิเคราะห์ทางด้านอัตราผลตอบแทนของโครงการ โครงการนี้มีอัตราผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ๔๕.๘๔๖๑๖๘ อุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้ของโครงการนี้มีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือการตีตราคัดเลือกซึ่งถือว่าไม่จำเป็น เพราะไม้ที่มีค่าในทางการค้าจะต้องถูกทำออกทั้งหมดอยู่แล้ว ควรจะอนุญาตเป็นแต่ละพื้นที่ตัดฟันสำหรับไม้ทุกขนาด เพื่อความคล่องตัวในการทำไม้ และการแยกขนาดนั้นสามารถทำได้ที่หมอนไม้ ขณะทีตีตราเพื่อเพื่อจํานวณค่าภาคหลวง เกี่ยวกับการตัดฟันไม้เสื่อมคุณภาพนั้นควรจะให้ความเชื่อถือพนักงาน อ.อ.ป.คัดออกเพราะถ้าเป็นไม้คุณภาพดีแล้วย่อมต้องทำออกอย่างแน่นอน การติดต่อประสานงานระหว่างพนักงาน อ.อ.ป. และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากควรประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อว่าจะได้ดำเนินการทำไม้ได้รวดเร็วขึ้น อันจะเป็นผลทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง และทำให้โครงการมีกำไรเพิ่มขึ้น

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ