ผลของความหนาแน่นของการปลูกป่าต่อผลผลิตของสวนป่าไม้ยูคาลิปตัสคามาลดูเลนซีสที่ปลูกเพื่อการประยุกต์ระบบ วนเกษตร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของความหนาแน่นของการปลูกป่าต่อผลผลิตทางชีวภาพและปริมาตรของลำต้นในสวนป่าไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ที่ปลูกเพื่อการประยุกต์ระบบวนเกษตรได้ดำเนินการที่แปลงวิจัยและสาธิตการจัดการพื้นที่โดยระบบวนเกษตร อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประกอบด้วยแปลงทดลองปลูกไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ที่มีความหนาแน่นต่างกัน ๔ ระดับ คือ ๑,๒๕๐ ต้น/เฮกตาร์ (ระยะปลูก ๒ x ๔ เมตร) ๖๒๕ ต้น/เฮกตาร์ (ระยะปลูก ๔ x ๔ เมตร) ๔๑๗ ต้น/เฮกตาร์ (ระยะปลูก ๔ x ๖ เมตร) และ ๒๗๘ ต้น/เฮกตาร์ (ระยะปลูก ๖ x ๖ เมตร) แต่ละระดับความหนาแน่นประกอบด้วยแปลงทดลองขนาด ๒๐ x ๒๐ เมตร จำนวน ๓ แปลง ทำการสำรวจนับไม้และวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับความสูง ๑.๓๐ เมตร จากพื้นดินของต้นไม้ทุกต้นในแปลงทดลองแต่ละระดับความหนาแน่น (ยกเว้นต้นที่อยู่ขอบแปลง) เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๔ (อายุ ๒ ปี) เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๕ (อายุ ๓ ปี) และเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖ (อายุ ๔ ปี) เลือกไม้ตัวอย่างจากแปลงทดลองทั้ง ๔ ระดับความหนาแน่นตามชั้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้ที่อายุ ๔ ปี รวม ๑๒ ต้น ตัดไม้ตัวอย่างทั้งหมดที่ระดับชิดดิน วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างมิติต่างๆ ที่วัดได้จากต้นไม้กับมวลชีวภาพของส่วนที่เป็นลำต้น กิ่ง ใบ เนื้อไม้ (ลำต้น+กิ่ง) ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินทั้งหมด (ลำต้น+กิ่ง+ใบ) และปริมาตรลำต้น ในรูปของ allometric relation แล้วนำสมการความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดของแต่ละส่วนไปประมาณหาปริมาณมวลชีวภาพของส่วนต่าง ๆ และปริมาตรลำต้นของไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส ในสวนป่าทุกระดับความหนาแน่น เมื่ออายุ ๒, ๓ และ ๔ ปีและวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่น ของสวนป่าเมื่อเริ่มปลูกกับปริมาณมวลชีวภาพของส่วนต่าง ๆ ตลอดจนปริมาตรลำต้นเฉลี่ยต่อต้น และต่อหน่วยพื้นที่มาตรฐานของไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส แยกตามอายุของสวนป่า ผลการศึกษาพบว่ามวลชีวภาพของส่วนต่าง ๆ และปริมาตรลำต้นของไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส ในสวนป่าทั้ง ๔ ระดับความหนาแน่น ที่อายุ ๒, ๓ และ ๔ ปีสามารถประมาณหาได้อย่างถูกต้องจากสมการความสัมพันธ์ในรูป allometric relation ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับความสูง ๑.๓๐ เมตรจากพื้นดินยกกำลังสองคุณด้วยความสูงทั้งหมด (D2H) เป็นตัวแปรอิสระ ปริมาณมวลชีวภาพเฉลี่ยต่อต้นทั้งที่คิดรวมทุกส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน และที่แยกออกเป็นส่วนต่างๆ ตลอดจนปริมาตรลำต้นเฉลี่ยต่อต้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อความหนาแน่นของสวนป่าลดลงและมีปริมาณลดลงเมื่อความหนาแน่นของสวนป่าเพิ่มขึ้น และมีความสัมพันธ์กันในรูปของ Competition-Density effect เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของสวนป่า ในทางกลับกันผลผลิตมวลชีวภาพต่อหน่วยพื้นที่ ทั้งที่คิดรวมทุกส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน และที่แยกออกเป็นส่วนต่างๆ รวมทั้งผลผลิตทางปริมาตรของลำต้นต่อหน่วยพื้นที่จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามความหนาแน่นของสวนป่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และมีความสัมพันธ์กันในรูปของ Yield-Density effect เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของสวนป่า และสวนป่ายูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีสอายุ ๔ ปี เมื่อปลูกด้วยความหนาแน่น ๑,๒๕๐, ๖๒๙, ๔๑๗ และ ๒๘๘ ต้นต่อเฮกตาร์ จะได้ผลผลิตมวลชีวภาพทุกส่วนรวมกันเฉลี่ย และปริมาตรเฉลี่ยต่อต้นเท่ากับ ๖๓.๐๔, ๔๖.๑๗, ๑๒๖.๖๓, ๑๕๒.๘๗ กิโลกรัม/ต้น และ ๐.๐๙, ๐.๑๔, ๐.๑๙, ๐.๒๒ ลบ.เมตรต่อต้น ตามลำดับ และได้ผลผลิตรวมต่อหน่วยพื้นที่เท่ากับ ๗๕.๕๒, ๕๗,๘๙, ๕๙.๘๙, ๕๒.๕๐ ตัน/เฮกตาร์ และ ๑๐๙.๐๒, ๘๔.๒๘, ๗๒.๘๙ และ ๖๒.๒๗ ลบ.เมตร/เฮกตาร์ ตามลำดับ
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ขอรับรองว่า ต้นฉบับที่เสนอมานี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาต้นฉบับ ทั้งยินยอมให้กองบรรณาธิการมีสิทธิ์พิจารณาและตรวจแก้ต้นฉบับได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมนี้ขอมอบลิขสิทธิ์ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ให้แก่วารสารวนศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพ กราฟ ข้อความส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในผลงาน ให้เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) แต่เพียงฝ่ายเดียว และหากข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ประสงค์ถอนบทความในระหว่างกระบวนการพิจารณาของทางวารสาร ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาบทความนั้น”