ผลกระทบทางนิเวศนวิทยาบางประการของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่เกษตรกรรม

Main Article Content

พิทยา เพชรมาก
บพิตร เกียรติวุฒินนท์
บุญชุบ บุญทวี

บทคัดย่อ

ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางนิเวศนวิทยาบางประการของการปลูกไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ในพื้นที่เกษตรกรรมที่สถานีทดลองปลูกพรรณไม้ห้วยทา จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ถึงปี ๒๕๒๙ ภายใต้โครงการวิจัยและสาธิตการจัดการพื้นที่โดยระบบวนเกษตร โดยศึกษาเปรียบเทียบกับไม้กระถินณรงค์ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากัน ผลการศึกษาปรากฏว่าการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในช่วงอายุตัดฟัน ๔ ปีจะไม่มีผลกระทบในทางลบต่อพื้นที่หรือพืชข้างเคียงแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับไม้กระถินณรงค์ กล่าวคือ ผลผลิตของมันสำปะหลังซึ่งปลูกควบในปีที่ ๓ ในแปลงปลูกไม้ยูคาลิปตัสให้ผลผลิตสูงกว่าในแปลงปลูกไม้กระถินณรงค์ โดยให้ผลผลิตประมาณ ๕๓๐ และ ๓๑๗ ก.ก./ไร่ ตามลำดับ ตลอดจนผลผลิตของพืชไร่ที่ปลูกตามภายหลังตัดไม้ออกปรากฏผลเช่นเดียวกันคือ ในแปลงซึ่งเคยปลูกยูคาลิปตัสมาก่อนให้ผลผลิตสูงกว่าในแปลงซึ่งเคยปลูกไม้กระถินณรงค์ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงทั้ง ๒ ชนิด กล่าวคือ ธาตุอาหารพืชในแปลงปลูกไม้ยูคาลิปตัสลดลงในปริมาณที่น้อยกว่าในแปลงซึ่งเคยปลูกไม้กระถินณรงค์ ทั้งนี้เนื่องจากไม้กระถินณรงค์ดูดซับธาตุอาหารจากดินไปใช้ในปริมาณที่สูงกว่าไม้ยูคาลิปตัสถึง ๙๓% ในขณะที่อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดินของไม้ทั้ง ๒ ชนิด นั้นอยู่ในอัตราเดียวกันคือประมาณ ๑๖% อย่างไรก็ตามเมื่อต้นไม้มีอายุ ๔ ปี ปรากฏว่าความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่ออายุ ๔ อย่างเด่นชัดในแปลงปลูกไม้ทั้งสอง ทั้งนี้เนื่องจากไม้ทั้ง ๒ ชนิด ดูดซับธาตุอาหารขึ้นไปใช้น้อยลงและสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดินในปริมาณที่สูงขึ้น โดยที่ไม้กระถินณรงค์สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดินสูงถึง ๔๘% ในขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดินได้เพียง ๓๒% ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตของข้าวโพดในแปลงซึ่งเคยปลูกไม้ยูคาลิปตัสมาก่อนให้ผลผลิตลดลง ส่วนในแปลงซึ่งเคยปลูกกระถินณรงค์กลับให้ผลผลิตของข้าวโพดสูงขึ้นอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ตามสำหรับผลผลิตของถั่วลิสงนั้นปรากฏว่าในแปลงซึ่งเคยปลูกยูคาลิปตัสมาก่อนให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสูงกว่าผลผลิตที่ได้รับจากแปลงซึ่งเคยปลูกไม้กระถินณรงค์มาก่อน นั่นคือการปลูกไม้ยูคาลิปตัสมิได้ก่อให้ดินเป็นพิษ แต่อย่างใดในช่วงอายุ ๔ ถึง ๘ ปีดังกล่าว สำหรับในกรณีของการใช้น้ำนั้น ปรากฏว่าการปลูกไม้ยูคาลิปตัสทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงเท่ากันเมื่อเปรียบเทียบกับไม้กระถินณรงค์ คือ ระดับน้ำลดลงในอัตราวันละ ๑.๕๐ ซ.ม. หรือลดลงประมาณ ๑.๒๑ เมตร ในช่วง ๓ เดือนของฤดูแล้งในขณะที่ในที่โล่งระดับน้ำลดลงเพียง ๑.๑๕ เมตร

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ