การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสีผสมศึกษาลักษณะการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำแม่ปีงและน่าน

Main Article Content

ประสงค์ สงวนธรรม

บทคัดย่อ

การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมชนิดสีผสม นอกจากจำแนกพื้นที่ป่าไม้ออกจากพื้นที่เพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำได้แล้ว ยังสามารถจำแนกแบ่งชนิดป่าไม้และความเสื่อมโทรมของป่าออกเป็นแต่ละประเภทได้โดยสังเกตจากความแตกต่างชนิดสีและวรรณของสี ไม่เพียงแต่ศึกษาเฉพาะส่วนผสมของสีบนแผ่นพิล์ม ซึ่งได้แก่ สีเหลือง, แดง, และน้ำเงินเท่านั้นยังต้องศึกษาลักษณะทางนิเวศน์วิทยาป่าไม้ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นการเลือกภาพซึ่งถ่ายทำในฤดูแล้ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้แยกป่าผลัดใบ และป่าไม่ผลัดใบได้ ข้อมูลด้านอื่น เช่น แผนที่ภูมิประเทศ, แผนที่การใช้ที่ดิน, และข้อมูลจากการตรวจสอบภาคสนาม ยังได้นำมาประมวลในการแปลภาพเพื่อให้มีความถูกต้องมากขึ้น


การศึกษาครั้งนี้ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมชนิดสีผสมมาตราส่วน ๑ : ๕๐๐,๐๐๐ ซึ่งถ่ายทำในเดือนเมษายน ๒๕๒๖, ธันวาคม ๒๕๒๙, และมกราคม ๒๕๒๘ จำนวน ๔ ภาพ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ ๒๙,๕๐๐ และ ๑๓,๓๕๐ ตารางกิโลเมตรตามลำดับ พบลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ได้แก่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ, พื้นที่เกษตรกรรม, และพื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่ป่าธรรมชาติสามารถจำแนกได้เป็น ๙ ชนิด ตามลักษณะพรรณไม้ที่พบ คือ ป่าสน, ป่าดิบเขาชื้น, ป่าดิบเขา, ป่าดิบแล้ง, ป่าผสมที่มีไม้สัก, ป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง, ป่าเต็งรังผสมสน, และป่าเสื่อมโทรม


การนำเทคนิคการแปลภาพจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในการจำแนกพื้นที่ป่าไม้นับเป็นความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ในสาขาการป่าไม้อย่างมาก เนื่องจากสามารถจัดจำแนกชนิดป่าได้รวดเร็ว เป็นพื้นที่กว้างถึงระดับจังหวัด ทั้งยังเป็นการประหยัดทั้งแรงงานและรายจ่ายควบคู่กันไป

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ