ศักยภาพของพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวและการปรับตัวของชาวนาจากปัญหาอุทกภัย ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ปัญหาอุทกภัยจัดเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนปลูกข้าวของเกษตรกร การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพของพื้นที่สำหรับการปลูกข้าว รวมทั้งศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรหลังจากประสบปัญหาน้ำท่วม โดยวิเคราะห์ข้อมูลศักยภาพของพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวด้วยวิธี PSA (potential surface analysis) ในโปรแกรม ArcGIS 9.2 ครอบคลุมปัจจัยทางกายภาพของพื้นที่ ได้แก่ การระบายน้ำของดิน ปริมาณสารอาหารในดิน (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ค่าปฏิกิริยาดิน เนื้อดิน ความลึกของดิน ปริมาณเกลือในดิน และความลาดชัน นำปัจจัยทางกายภาพดังกล่าววิเคราะห์ร่วมกับพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผลการศึกษาพบว่าตำบลขนาบนากมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการปลูกข้าวเพียงเพียงร้อยละ 10.91 (2,630.86 ไร่) จัดเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง ปานกลาง และต่ำ คิดเป็นร้อยละ 3.27, 4.77 และ 2.87 ตามลำดับ พื้นที่ส่วนมาก (ร้อยละ 89.09) ของตำบลขนาบนากจัดเป็นพื้นที่ไม่มีศักยภาพสำหรับการปลูกข้าว 21,477.57 ไร่ พื้นที่ที่มีศักยภาพพบในพื้นที่ ม.1, ม.3 และ ม.4 พื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวสูง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ม.3 ประมาณ 541.24 ไร่ (ร้อยละ 68.61) สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพสำหรับการปลูกข้าว คือ พื้นที่ใน ม. 2, ม.5, ม.6, ม.7ม ม.8, ม.9 และ ม.10 จากปัญหาน้ำท่วมและพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวน้อยลง จึงได้มีการสอบถามความคิดเห็นในการปรับตัวของเกษตรกรหลังจากประสบปัญหาน้ำท่วม โดยใช้แบบสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่มย่อย ผลการศึกษาพบว่าชาวนาในพื้นที่ขนาบนากร้อยละ 94.45 ยังคงจะปลูกข้าวรูปแบบเดิม คือ การรอน้ำฝน โดยปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและส่วนที่เหลือนำจำหน่าย (ร้อยละ 77.78) และปลูกไว้เพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียวร้อยละ 16.67 ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีแผนการการปรับตัวเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นเกษตรกรกลุ่มที่มีอายุมากและเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจะรอการช่วยเหลือจากทางราชการเพียงอย่างเดียว และเห็นว่าน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ในขณะที่มีเกษตรกรเพียงกลุ่มเล็ก ๆ (ร้อยละ 5.55) ซึ่งเห็นว่าจะมีการปรับตัวแบบถาวร โดยการเปลี่ยนอาชีพจากการทำนาข้าวไปปลูกต้นจาก และปาล์มน้ำมัน สำหรับรูปแบบการปรับตัวหรือรับมือกับปัญหาน้ำท่วม มีทั้งการปรับตัวในระดับบุคคลและระดับชุมชนและท้องถิ่น โดยการปรับตัวในระดับบุคคล ได้แก่ การสร้างคันนาให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าไปในพื้นที่นาข้าว การขุดทางระบายน้ำหรือรางน้ำในพื้นที่นาข้าวของตนเองให้เชื่อมต่อกับคลองหรือแพรกสาธารณะ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ และการขุดสระน้ำในพื้นที่นาข้าวเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ในการปลูกข้าวได้ตามฤดูกาล ส่วนการปรับตัวในระดับชุมชนหรือท้องถิ่น ได้แก่ จัดทำระบบคูนาในพื้นที่ให้เชื่อมต่อกัน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำนา และระบายน้ำออกจากพื้นที่ และนอกจากนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนชนิดของพันธุ์ข้าวที่มีความทนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและใช้น้ำน้อย
คำสำคัญ : ข้าว; ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์; การปรับตัวของชาวนา; อุทกภัย
Article Details
References
[2] สำนักงานเกษตรอำเภอปากพนัง, 2560, รายชื่อเกษตรกรจำแนกตามกิจกรรมการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นครศรีธรรมราช.
[3] สำนักงานรพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), Thai Flood Mornitoring System, แหล่งที่มา : http:// flood.gistda.or.th, 5 พฤษภาคม 2560.
[4] วัลภา อินทรงค์, 2555, การวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวสังข์หยด จังหวัดพัทลุง, วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ทรวิโรฒ, กรุงเทพฯ, 68 น.
[5] Yamane, Taro, 1967, Statistics, An Introductory Analysis, 2nd Ed., Harper and Row, New York.
[6] สุวรรณา ตุลยวศินพงศ์, 2559, น้ำท่วม-น้ำแล้งกับการปรับตัวของเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมไทย (ทีดีอาร์ไอ), กรุงเทพฯ, 28 น.
[7] ทรงชัย ทองปาน, 2556, กลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกรทำนา ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์, ว.ปาริชาติ 3(ฉบับพิเศษ): 79-89.
[8] สมพร คุณวิชิต, ยุพิน รามณีย์ และบัญชา สมบูรณ์สุข, 2558, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิถีชีวิตของมนุษย์ : ศึกษาผลกระทบและการปรับตัวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สงขลา, 164 น.