สมบัติของดินและระยะห่างจากแหล่งกำเนิดสารหนูต่อรูปของสารหนูในดินจากอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ที่เคยมีการทำเหมืองแร่ดีบุกและส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนสารหนูในดิน สมบัติของดินเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรูปของสารหนู ดังนั้น จึงทำการศึกษาสมบัติของดินและระยะห่างจากแหล่งกำเนิดสารหนูต่อรูปของสารหนูในดิน โดยเก็บตัวอย่างดินบนและล่างจำนวน 12 บริเวณ ภายในความลึก 100 ซม. ที่ 0.5–6.0 กม.จากแหล่งกำเนิดสารหนู ทำการวิเคราะห์สมบัติของดินและรูปสารหนูในดิน โดยการสกัดตามลำดับขั้น ผลการศึกษาพบว่า ดินบนและล่างมีสารหนูทั้งหมดสูง(365.8−672.8 และ 192.8−687.7 มก./กก. ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับระดับที่กำหนดในดินทำการเกษตรในประเทศไทย (3.9 มก./กก.) สารหนูส่วนใหญ่ในดิน บนอยู่ในรูปสารหนูที่เกี่ยวเนื่องกับเหล็กและอะลูมินัมออกไซด์อสัณฐาน รองลงมา คือ สารหนูที่เกี่ยวเนื่องกับเหล็กและอะลูมินัมออกไซด์ที่เป็นผลึก และพบสารหนูที่ถูกดูดซับแบบไม่เฉพาะเจาะจงน้อยที่สุด นอกจากนั้น พบความสัมพันธ์สูงระหว่างผลรวมของสารหนูที่ถูกดูดซับแบบไม่เฉพาะเจาะจงและที่ถูกดูดซับ แบบเฉพาะเจาะจงกับสารหนูที่ถูกดูดซับแบบเฉพาะเจาะจงอย่างมีนัยสำคัญ (r = 0.997**) และพบความสัมพันธ์ระหว่างสารหนูที่ถูกดูดซับแบบไม่เฉพาะเจาะจงและที่ถูกดูดซับแบบเฉพาะเจาะจงกับสมบัติของดินบางประการ เช่น อินทรียวัตถุ (r = 0.681* และ r = 0.606*) ไนโตรเจนทั้งหมด (r = 0.687* และ r = 0.683*) และฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (r = 0.770** และ r = 0.611*) ในขณะที่สารหนูทั้งหมด สารหนูรูปที่ถูกดูดซับแบบไม่เฉพาะเจาะจง และที่ถูกดูดซับแบบเฉพาะเจาะจงลดลงเมื่อเพิ่มระยะห่างจากแหล่งกำเนิดสารหนู ผลที่ได้ชี้ให้เห็นว่า สารหนูในรูปที่มีศักยภาพในการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ศึกษามีค่าสูง (23.2–49.8 มก./กก.) ดังนั้น จำเป็นต้องหาแนวทางลดสารหนูในดิน