ศักยภาพของดินในการปลูกอ้อยภายใต้สภาพภูมิอากาศทุ่งหญ้าเขตร้อนในจังหวัดหนองบัวลำภู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาศักยภาพของดินที่ใช้ปลูกอ้อยในจังหวัดหนองบัวลำภู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำโดยใช้ดินตัวแทน 10 บริเวณ วิธีการศึกษาประกอบด้วยการวิเคราะห์สัณฐานวิทยาของดินในสนาม และการวิเคราะห์ตัวอย่างดินทางจุลสัณฐานวิทยา ทางกายภาพ ทางเคมี และทางแร่วิทยาตามวิธีมาตรฐาน ประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสมรรถนะความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยพิจารณาจากความต้องการของอ้อย ผลการศึกษา พบว่า จังหวัดหนองบัวลำภูประกอบด้วยพื้นที่ดอนและกึ่งลุ่มค่อนข้างกว้างขวางที่ใช้ทางการเกษตร เป็นตะพักที่ราบระดับกลาง ที่เกิดจากตะกอนเกลี่ยผิวดินทับอยู่บนวัสดุตกค้างจากหินตะกอน และหินแปรดินที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่ เป็นดินลึกมาก มีพัฒนาการปานกลางถึงสูง มีเนื้อดินอยู่ในกลุ่มดินเนื้อปานกลางถึงเนื้อละเอียด มีการสะสมดินเหนียวในชั้นดินล่าง บางบริเวณ พบศิลาแลงอ่อนหรือพลินไทต์ในหน้าตัดดิน ความหนาแน่นรวมดินชั้นบนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ค่าพีเอชอยู่ในช่วงเป็นกรดรุนแรงมากถึงด่างจัด (pH 4.4–8.7) ระดับธาตุอาหารพืชอยู่ในระดับปานกลาง ธาตุอาหารรองไม่เป็นข้อจำกัดในการปลูกอ้อย จุลธาตุที่เป็นปัญหา คือ สังกะสีที่อยู่ในระดับต่ำ องค์ประกอบเชิงแร่ของกลุ่มอนุภาคดินเหนียวส่วนใหญ่ที่พบเป็นแร่เวอร์มิคูไลต์ และแร่เคโอลิไนต์ดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับต่ำ สมรรถนะความอุดมสมบูรณ์ของดินส่วนใหญ่มีหน่วยเป็น La-k โดยมีข้อจำกัดหลัก คือ อะลูมินัมเป็นพิษ (a-) และมีโพแทสเซียมสำรองต่ำ (k)