การจัดการการตลาดทุเรียนของเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดจันทบุรี

Main Article Content

ไพบูลย์ สถิรโกศลวงศ์
พนามาศ ตรีวรรณกุล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลของเกษตรกร 2) การผลิตทุเรียนของเกษตรกร 3) การรับรู้การตลาดทุเรียนของเกษตรกร 4) ความรู้การจัดการการตลาดทุเรียนของเกษตรกร 5) การจัดการการตลาดทุเรียนของเกษตรกร และ 6) ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล การผลิตทุเรียน การรับรู้การตลาดทุเรียน ความรู้ การจัดการการตลาดทุเรียน และการจัดการการตลาดทุเรียนของเกษตรกรที่เข้าร่วมการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 234 คน เก็บข้อมูลโดยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย เลขคณิต ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และการแจกแจงแบบตารางไขว้ ผลการวิจัยพบว่า 1) เกษตรกรเป็นเพศชาย ร้อยละ 53.8 มีอายุเฉลี่ย 52.37 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 45.3 เข้าร่วมการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทุเรียนเฉลี่ย 1.74 ปี ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียน ร้อยละ 73.9 2) เกษตรกรผลิตทุเรียนได้ผลผลิตเฉลี่ย 17,439.10 กิโลกรัมต่อปี ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตทุเรียนเฉลี่ย 336,486.32 บาทต่อปี โดยมีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ย 1,486,252.14 บาทต่อปี 3) เกษตรกรรับรู้การตลาดทุเรียน ด้านผลิตภัณฑ์และด้านราคาในระดับน้อย และมีการรับรู้ด่นช่องทางการจัดจำหน่ายและด้านการส่งเสริมการตลาดในระดับมาก 4) เกษตรกรมีความรู้การจัดการการตลาดทุเรียนในระดับมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย 12.65 คะแนน จากคะแนนรวม 15 คะแนน 5) เกษตรกรส่วนใหญ่จัดการการตลาดทุเรียน ด้านผลิตภัณฑ์ในระดับมาก แต่จัดการการตลาดทุเรียนด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาดในระดับน้อย และ 6) ระดับการศึกษา จำนวนปีที่เข้าร่วมระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการรับรู้การตลาดทุเรียนทั้ง 4 ด้าน มีความสัมพันธ์กับการจัดการการตลาดทุเรียนด้านผลิตภัณฑ์ อีกทั้งปริมาณผลผลิตทุเรียนต่อปี และการรับรู้การตลาดทุเรียนด้านช่องทางการจำหน่ายมีความสัมพันธ์กับการจัดการการตลาดทุเรียนด้านราคา

Article Details

บท
บทความวิจัย