การตอบสนองทางสัณฐานวิทยาและสรีรวิทยาของข้าวโพดลูกผสม 3 พันธุ์ ภายใต้สภาวะดินอิ่มตัวด้วยน้ำ
Main Article Content
บทคัดย่อ
เพื่อประเมินการตอบสนองทางสัณฐานวิทยาและสรีรวิทยาของข้าวโพดลูกผสม 3 พันธุ์ ภายใต้สภาวะดินอิ่มตัวด้วยน้ำ (Saturated soil, SS) ได้ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ใช้แผนการทดลองแบบ Split plot in RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ตำรับทดลองประกอบด้วย 3 Main plot ได้แก่ การให้น้ำแบบปกติ ดินอิ่มตัวด้วยน้ำ นาน 7 วัน ที่ระยะใบที่สอง (V2) และระยะใบที่หก (V6) และมี 3 Sub plot คือ ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์สุวรรณ 4452 (SW4452) นครสวรรค์ 3 (NS3) และ CP888new ทดลอง 3 ปี ใน ฤดูแล้ง 2557 (31 ม.ค. ถึง 5 มิ.ย.) ฤดูแล้ง 2558 (11 ก.พ. ถึง 31 พ.ค.) และปลายฤดูฝน 2559 (19 ส.ค. ถึง 2 ธ.ค.) ผลการทดลอง พบว่า SS ในระยะ V2 และ V6 ให้ผลผลิตลดลงไม่แตกต่างกัน แต่ SS ทั้งสองระยะ ให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 17 และ 18 ของการให้น้ำปกติ ตามลำดับ ข้าวโพดภายใต้ SS ที่ระยะ V2 และ V6 มีจำนวนราก และพัฒนา aerenchyma ที่ระยะ V2 มากกว่าการให้น้ำแบบปกติ ช่วงแรกของ SS ในระยะ V2 ข้าวโพดสร้าง ethylene มากกว่าการให้น้ำปกติ และแตกต่างทางสถิติ ไม่พบการเกิด adventitious root ในข้าวโพดที่ให้น้ำแบบปกติ SS ในระยะ V2 มีอัตราการสังเคราะห์แสง ดัชนีพื้นที่ใบ น้ำหนักแห้งและน้ำหนัก 100 เมล็ดลดลง SS ในระยะ V2 และ V6 มีเส้นผ่าศูนย์กลางฝัก ความยาวฝัก และจำ นวนเมล็ดต่อฝักลดลง NS3 มีการปรับตัวทางสัณฐานวิทยา และสรีรวิทยาได้ดีกว่าพันธุ์อื่น คือ ปรับตัวได้เร็วตั้งแต่ในระยะ V2 มีจำ นวนรากมาก ร้อยละของการพัฒนา aerenchyma มาก สร้างพื้นที่ใบได้เร็ว อัตราการสังเคราะห์แสงสูง มีจำนวนใบที่มีชีวิตมาก รากสร้างน้ำหนักแห้งได้เร็ว มีการกระจายน้ำหนักแห้งสู่รากสูง จำนวนฝักต่อต้นมาก มีน้ำหนัก 100 เมล็ดสูง NS3 จึงสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาพันธุ์ที่ทนทานต่อ SS ได้