การตัดสินใจผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและเศรษฐกิจ 2) ความรู้ในการผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ 3) พฤติกรรมการใช้สารเคมี และ 4) การตัดสินใจผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ประชากร คือ เกษตรกรผู้ผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ 85 คน โดยใช้แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 37–50 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือ มีประสบการณ์ผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ 7–10 ปี มีเงินทุนที่ใช้ทำการเกษตร 1,301–1,901 บาท รายได้ต่อครัวเรือน 97,561–183,781 บาท มีความรู้ในการผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ระดับมาก ได้แก่ ด้านการจัดการดิน และปุ๋ย และการจัดการข้าวในระบบอินทรีย์ เกษตรกรมีพฤติกรรมการใช้สารเคมีก่อนเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ในระดับเหมาะสมมาก ได้แก่ วิธีการฝังที่ความลึก 50 เซนติเมตร การตัดสินใจผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ภาพรวมอยู่ในระดับมาก คือ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การมีตลาดรองรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ต่ำ รองลงมา คือ ด้านนิเวศวิทยา ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการคำนึงถึงผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งจากการสัมภาษณ์ 8 ผู้นำกลุ่มและเกษตรกร พบว่า การตัดสินใจผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งมีประเด็นปัญหาในการผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ คือ ปัญหาการเข้าถึงสื่อ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้สนับสนุนการผลิต ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้นำชุมชน รวมทั้งปัญหาการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง