ผลของปริมาณรำข้าวและจำนวนก้อนเชื้อเห็ดต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดมิลค์กี้

Main Article Content

กาญจน์เจริญ ศรีอ่อน

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการเพาะเห็ดมิลค์กี้ในประเทศไทยเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจผลิตมากขึ้นแต่ยังขาดข้อมูล เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตรวมถึงข้อมูลปริมาณการใช้อาหารเสริมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดมิลค์กี้ที่เพาะในขี้เลื่อย ดังนั้นการทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปริมาณรำข้าวและจำนวนก้อนเชื้อเห็ดต่อการเจริญเติบโตและการให้ ผลผลิตของเห็ดมิลค์กี้ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1) ศึกษาผลของปริมาณรำข้าวต่อการเจริญเติบโตและปริมาณผลผลิตของเห็ดมิลค์กี้ วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์มี 6 ทรีทเมนต์ โดยแต่ละทรีทเมนต์ใส่รำข้าว 0 2.5 5 10 15 และ 20% ของขี้เลื่อย และการทดลองที่ 2) ศึกษาผลของจำนวนก้อนเชื้อเห็ดต่อการเติบโตและปริมาณผลผลิตของเห็ดมิลค์กี้ โดยใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะและใช้รำข้าวเป็นอาหารเสริมที่อัตรา 20% ของขี้เลื่อย เมื่อผสมขี้เลื่อยกับอาหารเสริมชนิดต่าง ๆ เสร็จแล้วจึงบรรจุขี้เลื่อยลงถุงพลาสติกขนาด 3.5 × 12 นิ้ว จำนวน 900 กรัม/ถุง แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์มี 4 ทรีทเมนต์ โดยแต่ละทรีทเมนต์มีจำนวนก้อนเชื้อเห็ด 2 3 4 และ 5 ถุง/กระถางขนาด 15 นิ้ว ผลการทดลองพบว่าการใช้รำข้าวอัตรา 20% ทำให้เห็ดมิลค์กี้เจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตมากที่สุด โดยมีระยะเวลาการก่อตัวเท่าหัวเข็มหมุด 17.7 วัน เก็บผลผลิตครั้งแรกที่อายุ 33 วันหลังจากคลุมผิวหน้าวัสดุเพาะ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของหมวกดอกเห็ด 14.7 เซนติเมตร ความยาวของก้านดอก 7.5 เซนติเมตร และให้ผลผลิต 640.4 กรัม/กระถาง ในขณะที่การใส่รำข้าว 5% ซึ่งเป็นสูตรที่เกษตรกรนิยมใช้ เห็ดมิลค์กี้ให้ผลผลิตเพียง 303.0 กรัม/กระถาง นอกจากนี้การใช้ก้อนเชื้อเห็ด 5 ถุง/กระถาง มีผลทำให้เห็ดมิลค์กี้ให้ผลผลิตมากที่สุด โดยมีระยะเวลาการก่อตัวเท่าหัวเข็มหมุด 10 วัน เก็บผลผลิตครั้งแรกที่อายุ 18 วันหลังจากทำการคลุมผิวหน้าวัสดุเพาะ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของหมวกดอกเห็ด 11.2 เซนติเมตร ความยาวของก้านดอก 14.2 เซนติเมตร เห็ดมิลค์กี้ให้ผลผลิตรวม 1,295.4 กรัม/กระถาง มีประสิทธิภาพการใช้อาหาร 51.8% ในขณะที่การใช้ก้อนเชื้อ 2 ถุง/กระถาง เห็ดมิลค์กี้ให้ผลผลิต 348.2 กรัม/กระถาง และมีประสิทธิภาพการใช้อาหารเพียง 34.8%

Article Details

บท
บทความวิจัย