การอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปฏิบัติในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และปัญหาของเกษตรกรในการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จากกลุ่มตัวอย่าง 168 คน ในจังหวัดนครราชสีมา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ และค่ามัชฌิมเลขคณิต ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 92.3 อายุเฉลี่ย 39.9 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 42.9 มีประสบการณ์ปลูกมันสำปะหลังเฉลี่ย 18.6 ปี แรงงานในครัวเรือนเฉลี่ย 3 คน มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเฉลี่ย 47.9 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,746 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังเฉลี่ย 8,432.95 บาท/ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,627.32 บาท/ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์ดิน และน้ำในระดับมาก ร้อยละ 82.7 คะแนนความรู้เฉลี่ย 16.02 จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน และเกษตรกรส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 2.65 โดยวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เกษตรกรปฏิบัติมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ การเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินร้อยละ 95.2 รองลงมาการไถเตรียมดินที่ความชื้นเหมาะสมร้อยละ 93.5 และการปลูกพืชหมุนเวียนร้อยละ 86.6 สำหรับปัญหา และข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์ดิน และน้ำของเกษตรกรที่เป็นปัญหามากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ หน่วยงานราชการขาดความต่อเนื่องของการดำเนินงานร้อยละ 57.1 รองลงมาไม่มีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ง่ายพอสำหรับเกษตรกรร้อยละ 54.2 และนโยบายด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำไม่มีความชัดเจนร้อยละ 53.6