อิทธิพลของถ่านชีวภาพจากปาล์มน้ำมันต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชและการละลายของฟอสฟอรัสในดินนาเปรี้ยวจัด
Main Article Content
บทคัดย่อ
การปลูกปาล์มน้ำมันได้มีการขยายตัวสู่ดินนาเปรี้ยวจัดในภาคกลางของไทย อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีของเสียชีวมวลหลายชนิดซึ่งมีศักยภาพในการใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้ถ่านชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน (OPB) ต่อสมบัติทางเคมี ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชและสัดส่วนของฟอสฟอรัสในดินนาเปรี้ยวจัด (ชุดดินรังสิต: Rs) โดยทำการบ่มดินร่วมกับถ่านชีวภาพจากปาล์มน้ำมันในอัตรา 0 0.5 1.0 และ 2.0 ตันต่อไร่ในสภาพขังน้ำ ผลการบ่มดินระยะเวลา 16 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า การใช้ OPB สามารถเพิ่มพีเอชดินเล็กน้อย และเพิ่มปริมาณของฟอสฟอรัสที่สกัดด้วยน้ำยา Bray–II ซิลิคอนที่สกัดด้วย CaCl2 และแคตไอออนสภาพเบสที่สกัดได้ด้วยน้ำยา NH4OAc ผลการศึกษาสัดส่วนของฟอสฟอรัสในดินด้วยวิธีการสกัดเชิงลำดับ 5 ขั้นตอนพบว่า ฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่สร้างพันธะกับเหล็กออกไซด์ที่มีผลึกไม่สมบูรณ์ (F3, 81%) และรูปที่เกี่ยวข้องกับเหล็กออกไซด์ที่มีผลึกสมบูรณ์ (F4, 9.5%) ส่วนฟอสฟอรัสในรูปที่สร้างพันธะกับอะลูมินัมออกไซด์ (F2, 6.7%) ฟอสฟอรัสที่สร้างพันธะกับแคลเซียมคาร์บอเนต (F5, 2.8%) และฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำได้และสร้างพันธะแบบอ่อน ๆ (F1, 0.035%) พบในปริมาณน้อยกว่าฟอสฟอรัสที่สร้างพันธะกับเหล็กออกไซด์ การใส่ OPB เพิ่มฟอสฟอรัสใน F1 ซึ่งเป็นรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ OPB ต่อการเพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสโพแทสเซียม และซิลิคอนในดินนาเปรี้ยวจัดภายใต้สภาพขังน้ำ