ความทนเค็มของต้นอ่อนกล้วยไม้สกุลหวาย โซเนีย ‘เอียสกุล’ ในสภาพปลอดเชื้อ

Main Article Content

เพชรศุภางค์ คำแท้
ดวงพร บุญชัย
พูนพิภพ เกษมทรัพย
พัชรียา บุญกอแก้ว

บทคัดย่อ

กล้วยไม้สกุลหวายเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญของไทย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งประสบปัญหาน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง การวิจัยนี้จึงศึกษาปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่เหมาะสมกับกล้วยไม้สกุลหวาย โซเนีย ‘เอียสกุล’ (Dendrobium Sonia ‘Earsakul) โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะทนเค็ม สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้ โดยนำต้นอ่อนที่เลี้ยงในอาหารที่เติมโซเดียมคลอไรด์ 50 mM ย้ายลงบนอาหารแข็งสูตร Vacin and Went (1949) ดัดแปลง ที่เติมโซเดียมคลอไรด์ความเข้มข้น 0 50 75 และ 100 mM และมีชุดควบคุมเป็นต้นอ่อนที่ไม่ได้เลี้ยงในโซเดียมคลอไรด์มาก่อน (NS) เลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือน วางแผนการทดลองแบบ completely randomized design มี 5 ทรีตเมนต์ พบว่า ต้นอ่อนที่เลี้ยงในความเข้มข้น 0 mM มีการเจริญเติบโตทางต้น ใบ ในระดับสูง และรากในระดับสูงที่สุด ส่วนต้นอ่อนที่เลี้ยงในโซเดียมคลอไรด์ 50 mM มีการเจริญเติบโตรองลงมาจากชุดควบคุม (NS) โดยโซเดียมคลอไรด์ที่สูงขึ้นทำให้คลอโรฟิลล์ เอ คลอโรฟิลล์ บี คลอโรฟิลล์รวม และแคโรทีนอยด์มีค่าลดลง แต่มีการสะสมโพรลีน และเปอร์เซ็นต์การรั่วไหลของอิเล็คโทรไลต์ในใบเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับความเค็มสูงกว่า 50 mM ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายจากความเค็มในความเข้มข้นที่สูงเกินไป สรุปได้ว่ากล้วยไม้สกุลหวาย โซเนีย ‘เอียสกุล’ สามารถเลี้ยงในอาหารที่เติมโซเดียมคลอไรด์ 50 mM ได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการผลิตต้นอ่อนกล้วยไม้สกุลหวายทนเค็มในสภาพปลอดเชื้อ

Article Details

บท
บทความวิจัย