ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการผลิตฝรั่งตามเกษตรดีที่เหมาะสมของเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล 2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม 3) ความรู้ในการผลิตฝรั่ง 4) การปฏิบัติตามเกษตรดีที่เหมาะสมของเกษตรกร และ 5) ความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล เศรษฐกิจและสังคม ความรู้ในการผลิตฝรั่งต่อการผลิตฝรั่งตามเกษตรดีที่เหมาะสมของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย จำนวน 234 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และใช้ไคสแควร์สำหรับการทดสอบสมมติฐาน ผลการวิจัย พบว่า เกษตรกรส่วนมากเป็นเพศชาย ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวนสมาชิกในครัวเรือน 2-4 คน และมีประสบการณ์ในการปลูกฝรั่ง 2 – 10 ปี มีจำนวนแรงงานในครัวเรือน จำนวน 1 – 2 คน แรงงานจ้าง 1 – 2 คน มีขนาดพื้นที่ปลูกฝรั่ง จำนวน 4 – 6 ไร่ และไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม 194 ราย การเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อกิจกรรม เกษตรกรมีความรู้อยู่ในระดับมากที่สุดคือ ด้านการเลือกพื้นที่ในการปลูก และการปฏิบัติตามเกษตรดีที่เหมาะสม ด้านที่ปฏิบัติมากคือ การเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว (ค่าเฉลี่ย 3.00) การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลในฟาร์ม (ค่าเฉลี่ย 2.96) พื้นที่ปลูก (ค่าเฉลี่ย 2.91) ผลิตผลปลอดจากศัตรูพืช (ค่าเฉลี่ย 2.33) แหล่งน้ำ (ค่าเฉลี่ย 2.13) การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ (ค่าเฉลี่ย 2.06) และการใช้วัตถุอันตราย (ค่าเฉลี่ย 2.05) ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ปัจจัยด้านอายุ สื่อบุคคล และความรู้มีความสัมพันธ์กับการผลิตฝรั่งตามเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับฝรั่ง ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01