การป้องกันการคุกคามป่าไม้ของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการพัฒนา พื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะส่วนบุคคล เศรษฐกิจ สังคมและความรู้การอนุรักษ์ป่าไม้ ระดับการป้องกันการคุกคามป่าไม้ ปัจจัยที่มีผลต่อการป้องกันการคุกคามป่าไม้ และแนวทางการป้องกันการคุกคามป่าไม้ ของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่าง คือ ตัวแทนครัวเรือนในพื้นที่รอบโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ จำนวน 203 ครัวเรือน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าความถี่ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนร้อยละ 55.2 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย48.51 ปี จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมีสถานภาพสมรส มีสมาชิกครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 7,061.08 บาท มีที่ดินเป็นของตนเอง เฉลี่ย 12.09 ไร่/ครัวเรือน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ภายในปี พ.ศ. 2563 ประชาชนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้และการป้องกันไฟป่าปีละ 1-2 ครั้ง และไม่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยตรง ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจากโทรทัศน์มากที่สุด ประชาชนใช้ประโยชน์จากป่าไม้มากที่สุดในเรื่องการหาเก็บของป่าเพื่อบริโภค ประชาชนมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้อยู่ที่ 8.87 (จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน) อยู่ในระดับปานกลาง
ผลการศึกษาการป้องกันการคุกคามป่าไม้ พบว่า มีระดับการป้องกันการคุกคามป่าไม้อยู่ในระดับมาก (𝛘 = 3.61) โดยมีการป้องกันการคุกคามป่าไม้จากภัยธรรมชาติมากที่สุด (𝛘 = 3.87) การป้องกันการคุกคามป่าไม้ในภาพรวม มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอิสระ 4 ตัวแปร ได้แก่ เพศ อายุ การถือครองที่ดิน และการรับข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และนำผลการศึกษามาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันการคุกคามป่าไม้ คือเสริมสร้างความรู้ จิตสำนึก และความตระหนัก เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และต้นน้ำลำธารทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า อบรมเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามป่าไม้ ออกกฎระเบียบข้อบังคับและกำหนดเขตพื้นที่ของพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ที่ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้ให้ชัดเจน สนับสนุนการทำเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวนเกษตร ทั้งนี้แนวทางการป้องกันการคุกคามป่าไม้สามารถช่วยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้และดูแลป่าไม้ได้อย่างเหมาะสม เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่โครงการหลวงสามารถวางแผนดำเนินงานในการจัดการพื้นที่ป่าไม้และกำหนดพื้นที่การทำเกษตรของชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ. 2562. ประวัติความเป็นมา. แหล่งข้อมูล https:// web2012.hrdi.or.th/xtrp/basicinfo/physical/318 (22 ธันวาคม 2562).
ณรงค์ เป็งเส้า. 2561. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร, คณะผลิตกรรมการเกษตร, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
นภวรรณ ฐานะกาญจน์พงษ์เขียว. 2562. การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในระดับท้องถิ่น: กรณีศึกษา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วารสารวนศาสตร์ 38(1): 112-121.
พหล ศักดิ์คะทัศน์. 2558. การคุกคามป่าชุมชนจากมนุษย์และแนวทางการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน บ้านทุ่งยาว อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2558. มหาวิทยาลัยแม่โจ้, จังหวัดเชียงใหม่.
ศิริพร ชูประสูตร. 2559. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กรณีศึกษา: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จังหวัดภูเก็ต. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
สมหญิง สุนทรวงษ์. 2554. ป่าชุมชนกับสังคมไทย. แหล่งข้อมูล https://archive.recoftc.org/country/thailand/basic-page/ (19 มีนาคม 2565).
เสรี ลาชโรจน์. 2537. การวัดและการประเมินผลการเรียนในโรงเรียนในการบริหารและจัดการการวัดและการประเมินผลการศึกษา หน่วยที่ 3. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นนทบุรี.
Taro Yamane. 1973. Statistics: an introductory analysis. 3nd Edition. Harper & Row, New York.