จริยธรรม (Publication Ethics) และบทบาทหน้าที่ (Duties)
มาตรฐานทางจริยธรรมของวารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านจริยธรรมและบทบาทหน้าที่ ดังมีข้อกำหนดต่อไปนี้

จริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ (Ethics and Duties of Editors)
1. บรรณาธิการทำการตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายว่าบทความวิจัย/บทความวิชาการนั้นจะได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธโดยที่ต้องไม่ เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความวิจัย/บทความวิชาการ
2. บรรณาธิการต้องทำการพิจารณาคัดเลือกบทความวิจัย/บทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์หลังผ่านกระบวนการประเมินบทความตามเกณฑ์การประเมินแล้วโดยพิจารณาจากความใหม่ สำคัญ ความชัดเจนและความสอดคล้องของเนื้อหาบทความกับวารสาร
3. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความวิจัย/บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
4. บรรณาธิการต้องมีการพิสูจน์ข้อสงสัยก่อนที่จะปฏิเสธการตีพิมพ์บทความวิจัย/บทความวิชาการ
5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความวิจัย/บทความวิชาการ ทั้งในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ตีพิมพ์ไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกรณีที่พบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ไม่ว่าอยู่ในขั้นตอนใดๆ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความนั้น และติดต่อผู้เขียนหลักทันที
6. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ กับผู้เขียนและผู้ประเมินบทความ

จริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Ethics and Duties of Reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาพิจารณาแก่บุคคลอื่นในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)
2. ในกรณีที่ผู้ประเมินตระหนักว่าตัวเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความหลังได้รับบทความวิชาการ/บทความวิจัยจากบรรณาธิการวารสาร เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการหรือรู้จักผู้เขียนป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัย
3. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัย ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความวิชาการ/บทความวิจัยที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของเนื้อหา ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินพิจารณาบทความวิชาการ/บทความวิจัยนั้น

จริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของผู้แต่ง (Ethics and Duties of Authors)
1. เขียนบทความให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ รายงานข้อมูลจากการวิจัยตามข้อเท็จจริง โดยผู้แต่งที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำวิจัยจริง
2. บทความที่ผู้แต่งนำส่งกับทางวารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง ต้องยังไม่เคยถูกเผยแพร่ หรืออยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์หรือเผยแพร่กับทางวารสารอื่น
3. ผู้แต่งต้องไม่ทำการปลอมแปลง และคัดลอกผลงาน รวมทั้งการคัดลอกผลงานผู้อื่นและการคัดลอกผลงานของตนเอง หากเกิดกรณีดังกล่าวบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์จะถูกถอดถอน
4. การนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนเอง ผู้แต่งต้องอ้างอิงผลงานดังกล่าวรวมทั้งต้องระบุไว้ในเอกสารอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้อง
5. ข้อมูลทั้งหมดในบทความไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา
6. ผู้แต่งต้องระบุหน่วยงานให้ทุน/สนับสนุน ในการทำวิจัย

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง  (Ethics in Human Research and Ethical Guidelines for the Use of Animals in Research) 

1. บทความที่เกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์ควรผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (ถ้ามี) โดยผู้แต่งต้องแนบหลักฐานการรับรองจากคณะกรรมการมาพร้อมกับตอนที่ยื่นส่งบทความ
2. บทความที่เกี่ยวกับการวิจัยในสัตว์และสิ่งมีชีวิตต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คกส.) (ถ้ามี) โดยผู้แต่งต้องแนบหลักฐานการรับรองจากคณะกรรมการมาพร้อมกับตอนที่ยื่นส่งบทความ