สถานการณ์ระบบการผลิตข้าวและแนวโน้มความยั่งยืนของอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

Main Article Content

สิทธิพันธุ์ สินอำพร
พุทธิพงษ์ หงษ์ทอง
นุจรี ใจประนบ
ชุติรัตน์ อัศวเทพ

บทคัดย่อ

ข้าวเป็นพืชอาหารที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ข้าวหอมมะลิไทยที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งเป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) โดยมากปลูกในพื้นที่นา อาศัยน้ำฝนและใช้สายพันธุ์ที่กรมการข้าวแนะนำ คือ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาข้อมูลสถานการณ์การผลิตข้าวและความสามารถในการเลี้ยงตนเองจากอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 21 รายในพื้นที่ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรโดยมากปลูกข้าวสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 คิดเป็นพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ วิธีการปลูกข้าวของเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีการหว่านหรือเครื่องหยอดและขายข้าวโดยส่งไปที่โรงสี ซึ่งราคาที่ขายได้จะขึ้นอยู่กับราคาตลาดและความชื้นของข้าว สำหรับปัจจัยการผลิตแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ น้ำฝนร่วมกับการใช้น้ำบาดาลบางส่วนในการเพาะปลูกข้าว การใส่ปุ๋ยโดยมากใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์การกำจัดวัชพืชใช้วิธีการตัดใบร่วมกับสารเคมีกำจัดวัชพืช แนวโน้มการสืบทอดอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวแก่บุตรหลานมีแนวโน้มลดลง จากการสำรวจพบว่าบุตรหลานเมื่อเข้าสู่วัยทำงานจะมุ่งสู่อาชีพนอกภาค การเกษตร การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าวหอมมะลิในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษานี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยวางแผนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิจัย