การพัฒนาออกแบบเครื่องปอกมะม่วงดองเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปมะม่วงดอง

Main Article Content

อิศราวุฒิ บุญแก้ว
สุดสายสิน แก้วเรือง
ศุภกิตต์ สายสุนทร
รติยา ธุวพาณิชยานันท์

บทคัดย่อ

การออกแบบเครื่องปอกมะม่วงดองโดยใช้ใบมีดติดบนจานหมุน 4 ตัว ตัวละ 3 ใบมีด ใช้ มอเตอร์ 3 เฟส 0.5 แรงม้า 4 ตัว ขับจานหมุนเป็นอิสระต่อกัน ทดลองหาเงื่อนไขการทำงานโดยแปรผัน 4 ปัจจัยหลัก ควบคุมความเร็วใบมีดด้วยอินเวอร์เตอร์ ที่ 4 ระดับ 200, 225, 250 และ 275 รอบต่อนาที ความสูงใบมีดปอกที่ 2.5 และ 3.0 มิลลิเมตร ใช้เกียร์มอเตอร์ 1 เฟส 25 วัตต์ ขับใบกวน ควบคุมความเร็วด้วย speed control ที่ 65 และ 70 รอบต่อนาที ทดลองแบบไม่ใช้น้ำและแบบใช้น้ำหล่อเลี้ยงในถังปอก ที่เวลาปอก 4 นาที การยอมรับการปอกจะใช้เกณฑ์ การสูญเสียน้ำหนักเฉลี่ยที่ 12–15 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผลก่อนปอก และ ความลึกการปอกเฉลี่ยที่ 1.75–3.00 มิลลิเมตร พบค่าเฉลี่ยที่ได้ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ T12 (ไม่ใช้น้ำ) เมื่อใบมีดปอกที่ 275 รอบต่อนาที ความสูงใบมีด 2.5 มิลลิเมตร ความเร็วใบกวน 70 รอบต่อนาที มีการสูญเสียน้ำหนักเฉลี่ย 14.40 ± 3.92 เปอร์เซ็นต์ ความลึกการปอกเฉลี่ย 2.98 ± 0.48 มิลลิเมตร และพบค่าเฉลี่ยที่ได้ตามเกณฑ์เหมาะสมดีที่สุดคือ T21 (ใช้น้ำหล่อ) เมื่อใบมีดปอกที่ 200 รอบต่อนาที ความสูงใบมีด 3.0 มิลลิเมตร ความเร็วใบกวน 65 รอบต่อนาที มีการสูญเสียน้ำหนักเฉลี่ย 13.70 ± 1.40 เปอร์เซ็นต์ ความลึกการปอกเฉลี่ย 2.57 ± 1.25 มิลลิเมตร เครื่องสามารถปอกได้ 60 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ใช้พลังงาน 0.30 หน่วยต่อชั่วโมง หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.76 บาท จ่ายเพียง 1.13 บาท ต่อ 60 กิโลกรัม คนสามารถปอกได้ 26.85 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ดังนั้น เครื่องปอกได้เร็วกว่าถึง 2.23 เท่า โดยเครื่องปอกมีระยะเวลาคืนทุน ภายใน 91 วัน ที่อัตราการผลิต 480 กิโลกรัมต่อวัน

Article Details

บท
บทความวิจัย