เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบขีดสีน้ำตาลข้าวด้วยการใช้ Trichoderma asperellum NST−009 ร่วมกับ Bacillus subtilis NST−002

Main Article Content

วาริน อินทนา
อรรถกร พรมวี
ปัณณวิชญ์ เย็นจิตต์

บทคัดย่อ

แยกรา Cercospora oryzae ที่เป็นสาเหตุโรคใบขีดสีน้ำตาลจากใบข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่เก็บจากพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จำนวน 4 ไอโซเลต เมื่อนำมาทดสอบความรุนแรงในการก่อโรคบนใบข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ในโรงเรือนปลูกพืชทดลอง พบว่า ทุกไอโซเลต สามารถก่อโรคกับใบข้าวได้ในช่วง 45.84−79.17 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะไอโซเลต Ce−NST−03 ที่มีความรุนแรงในการก่อโรคสูงที่สุด 79.17 เปอร์เซ็นต์ นำจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จำนวน 4 ชนิด (Trichoderma asperellum NST−009, T. asperellum CB−Pin−01, Bacillus subtilis NST−002 and B. subtilis NST−008) มาทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งราก่อโรคบนอาหารเลี้ยงเชื้อ potato dextrose agar (PDA) ที่อุณหภูมิห้อง (27 ± 2 องศาเซลเซียส) พบว่า จุลินทรีย์ปฏิปักษ์แต่ละชนิดมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยรา C. oryzae Ce−NST−03 ในช่วง 38.07−79.34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม โดยเฉพาะ T. asperellum NST−009 ที่ให้ประสิทธิภาพการยับยั้งเส้นใยราก่อโรคสูงที่สุดที่ 79.34 เปอร์เซ็นต์ ในการควบคุมโรคใบขีดสีน้ำตาลของข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 โดยใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในระดับโรงเรือนปลูกพืชทดลอง (ทั้งรูปแบบการใช้เพียงชนิดเดียวและการใช้ 2 ชนิดร่วมกัน) พบว่า ทุกกรรมวิธีที่ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์สามารถลดความรุนแรงของโรคได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในช่วง 26.83−73.17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม 2 (ปลูกรา C. oryzae) โดยเฉพาะกรรมวิธีที่ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ T. asperellum NST−009 + B. subtilis NST−002 ที่พบว่า มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้สูงที่สุด (73.17 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่กรรมวิธีที่ใช้สารเคมี carbendazim ลดความรุนแรงของโรคได้ที่ 70.73 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบว่า ทุกกรรมวิธีที่ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ทั้งรูปแบบการใช้เพียงชนิดเดียวและการใช้ 2 ชนิดร่วมกันสามารถตรวจพบจุลินทรีย์ปฏิปักษ์บนใบข้าวในช่วง 0.17 × 106−9.22 × 106 CFU ต่อใบข้าว 1 กรัม โดยเฉพาะ 3 กรรมวิธีคือ ใช้รา T. asperellum NST−009 (ชนิดเดียว), T. asperellum NST−009 + T. asperellum CB−Pin−01 และT. Asperellum NST−009 + B. subtilis NST−002 (ใช้ 2 ชนิดร่วมกัน) ที่ตรวจพบการครอบครองใบข้าวสูงที่สุด ในอัตราที่เท่ากันคือ 100.00 เปอร์เซ็นต์

Article Details

บท
บทความวิจัย