การปรับปรุงพันธุ์โดยชักนำการกลายพันธุ์ในเบญจมาศโดยใช้รังสีแกมมาและการตรวจสอบการกลายพันธุ์โดยวิธีเอเอฟแอลพี
Main Article Content
บทคัดย่อ
จากการนำข้อในสภาพปลอดเชื้อของเบญจมาศพันธุ์การค้าชนิดตัดดอก ช่อแบบ spray ดอกแบบ 2 สี (จากตลาดค้าไม้ตัดดอก ไม่ทราบชื่อพันธุ์แน่ชัด) ไปฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันที่ปริมาณรังสี 0, 5, 10, 15, 20, 25 และ 30 เกรย์ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อให้ยอดพัฒนาบนอาหารสูตร MS พบว่า การฉายรังสีที่ปริมาณรังสีสูงขึ้นมีผลทำให้เบญจมาศตายมากขึ้น โดยเบญจมาศที่ฉายรังสี 5 และ 10 เกรย์ มีอัตราการรอดชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ปริมาณรังสี 30 เกรย์ มีอัตราการรอดชีวิต 3.3 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามีค่า LD50 ประมาณ 26 เกรย์ เมื่อนำต้นเบญจมาศที่รอดชีวิตออกปลูกในแปลงปลูกของเกษตรกร พบว่าต้นที่รอดชีวิตทุกต้นมีการเจริญเติบโตเป็นปกติและสามารถออกดอกได้ และพบว่าต้นเบญจมาศที่ได้รับรังสีปริมาณ 15, 20 และ 25 เกรย์ บางต้นมีการการกลายของสีดอก และเมื่อตรวจสอบต้นกลายด้วยเทคนิคเอเอฟแอลพี โดยใช้คู่ไพรเมอร์ทั้งหมด 10 คู่ พบแถบดีเอ็นเอที่เป็นโพลีมอร์ฟิซึมโดยมีแนวโน้มว่าเมื่อปริมาณรังสีสูงขึ้นมีผลให้เกิดโพลีมอร์ฟิซึมเพิ่มสูงขึ้นด้วยและจากการวิเคราะห์เดนโดแกรมพบว่าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเบญจมาศที่กลายพันธุ์และเบญจมาศที่ไม่กลายได้