ประสิทธิภาพของสายพันธุ์กลายที่ได้จากเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ซึ่งแยกจากดินรอบรากในการควบคุมโรคเน่าระดับดินของต้นกล้าแตงกวา สาเหตุจากเชื้อรา Pythium aphanidermatum

Main Article Content

อนุสรา ตะเคียนเกลี้ยง
วรรณวิไล อินทนู
จิระเดช แจ่มสว่าง

บทคัดย่อ

เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ KR7 (สายพันธุ์ดั้งเดิม)ถูกชักนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต โดยวางเซลล์แขวนลอยของแบคทีเรียห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี 15 เซนติเมตร เป็นเวลา 1−5 นาที จากนั้นนำไปเจือจางและเกลี่ยบนอาหาร Nutrient glucose agar (NGA) ผลการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์พบแบคทีเรียสายพันธุ์กลายจำนวน 47 โอโซเลต และในจำนวนดังกล่าวพบ 33 ไอโซเลต ที่มีคุณสมบัติต้านทานต่อสารปฏิชีวนะ Rifampicin ที่ความเข้มข้น 100 ppm จากนั้นจึงนำมาทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา Pythium aphanidermatum (Pa) สาเหตุโรคเน่าระดับดินของต้นกล้าแตงกวา ด้วยวิธี dual culture บนอาหาร potato dextrose agar (PDA) พบแบคทีเรียสายพันธุ์กลาย จำนวน 9 ไอโซเลต มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรค Pa ได้ ในระดับ 40.38%−52.38% จึงคัดเลือกแบคทีเรียสายพันธุ์ดังกล่าวเพื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมโรคในสภาพเรือนปลูกพืชทดลองโดยการแช่เมล็ดแตงกวาในเซลล์แขวนลอยของแบคทีเรียปฏิปักษ์สายพันธุ์กลาย ความเข้มข้น 108 cfu/ml นาน 15 นาที ก่อนปลูกในดินที่มีเชื้อราสาเหตุโรค Pa เปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม (+Pa) สารเคมี metalaxyl และ Larminar® (Bacillus subtilis) จากผลการทดลองหลังการปลูก 7 วัน พบว่าแบคทีเรียทั้ง 9 ไอโซเลต มีเปอร์เซ็นต์ต้นงอกอยู่ระหว่าง73.33%−100% ซึ่งสูงกว่ากรรมวิธีควบคุมที่ปลูกเชื้อราสาเหตุโรคอย่างเดียว (+Pa) และที่ 14 วัน พบว่าไอโซเลต KRM7.31−Rif และ KRM7.13−Rif แสดงเปอร์เซ็นต์ต้นรอดตาย 93.33% และ 86.67% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม (+Pa) อย่างมีนัยสำคัญ และเทียบเท่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิม (KR7) ทั้งสองไอโซเลตสามารถลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคในดิน เพิ่มเปอร์เซ็นต์การเจริญครอบครองรากสูง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นกล้าแตงกวา เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุมที่ปลูกเชื้อราสาเหตุโรค (+Pa)

Article Details

บท
บทความวิจัย