การพัฒนาสายพันธุ์แท้ข้าวโพดโดยวิธีดับเบิ้ลแฮพลอยด์จากประชากร S0 และ S1
Main Article Content
บทคัดย่อ
การพัฒนาสายพันธุ์แท้ข้าวโพดโดยวิธีดับเบิ้ลแฮพลอยด์ที่ใช้แฮพลอยด์อินดิวเซอร์เป็นตัวชักนำให้เกิดพืชแฮพลอยด์นั้น ยังขาดข้อมูลสนับสนุนในการเลือกใช้ประชากรเริ่มต้นสำหรับการผสมกับแฮพลอยด์อินดิวเซอร์ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการพัฒนาสายพันธุ์แท้ข้าวโพดด้วยวิธีดับเบิ้ลแฮพลอยด์จากประชากร S0 และ S1 โดยผสมระหว่างประชากร S0 และ S1 ของข้าวโพด 4 ประชากร ได้แก่ Q1, Q2, K3 และ K4 กับแฮพลอยด์อินดิวเซอร์สายพันธุ์ PHI−3 คัดเลือกเมล็ดแฮพลอยด์ที่ปรากฏสีม่วงของแอนโทไซยานินบนเปลือกหุ้มเมล็ดนำไปเพาะความงอกเป็นเวลา 4 วัน และคัดเลือกต้นกล้าที่เป็นแฮพลอยด์อีกครั้ง ซึ่งเป็นต้นที่มีปลายรากสีขาวปกติ นำต้นกล้าแฮพลอยด์มาเพิ่มชุดโครโมโซมโดยแช่โคลชิซินเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ล้างทำความสะอาดต้นกล้าแล้วย้ายลงแปลงปลูก เมื่อถึงระยะผสมเกสรเลือกต้นไดแฮพลอยด์ที่มีละอองเกสรและผสมตัวเองได้เป็นเมล็ด DHS0–D1 และ DHS1–D1 ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า การใช้ประชากรเริ่มต้น S0 และ S1 มีอัตราการชักนำให้เกิดแฮพลอยด์ 5.4 และ 6.4 เปอร์เซ็นต์ สร้างสายพันธุ์แท้ได้ 25 และ 128 สายพันธุ์ และใช้จำนวนฤดูปลูกสำหรับพัฒนาสายพันธุ์แท้ 2 และ 3 ฤดู ตามลำดับ ดังนั้นการพัฒนาสายพันธุ์แท้โดยวิธี DHS0 และ DHS1 สามารถย่นระยะเวลาในการพัฒนาสายพันธุ์แท้ได้ 8 และ 7 ฤดูเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน โดยควรใช้ประชากร S1 ในการผสมกับแฮพลอยด์อินดิวเซอร์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์แท้ที่ต้องการจำนวนมาก