ผลของอัตราการฉีดพ่นคลอร์ไพรีฟอสและไดเมทโธเอตต่อปริมาณสารตกค้าง ในต้นหอม (Alliumcepa var. aggregatum)
Main Article Content
บทคัดย่อ
ศึกษาปริมาณสารตกค้างของคลอร์ไพรีฟอสและไดเมทโธเอตที่มีการฉีดพ่นในต้นหอม วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในบล๊อก ปัจจัยหลักคือ อัตราการฉีดพ่นสารกำจัดแมลง 3 อัตรา คือ 1) ฉีดพ่นอัตราต่ำกว่าแนะนำ 2 เท่า 2) ฉีดพ่นตามอัตราแนะนำ 3) ฉีดพ่นอัตราสูงกว่าแนะนำ 2 เท่า และแปลงควบคุม (น้ำ) ทำการทดลอง 5 ซ้ำ ฉีดพ่นสารกำจัดแมลงวันที่ 21, 28 และ 35 ของการปลูก ปัจจัยรองคือ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ 2 ชั่วโมง, 1, 3, 5, 7, 10, 15, 20 และ 25 วันหลังจากการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงครั้งสุดท้าย พบว่าที่ 2 ชั่วโมงหลังการฉีดพ่นสารกำจัดแมลง แปลงที่ฉีดพ่นด้วยอัตราสูงกว่าอัตราแนะนำ 2 เท่า มีปริมาณคลอร์ไพรีฟอสสูงกว่าแปลงที่ฉีดพ่นด้วยอัตราแนะนำและฉีดพ่นต่ำกว่าอัตราแนะนำ (12.23 ± 0.35, 5.27 ± 0.24, 2.67 ± 0.04 ppm ตามลำดับ) ค่ามาตรฐานของคลอร์ไพรีฟอสที่ยอมให้ตรวจพบได้ในต้นหอมคือ 0.05 ppm (EU MRL) และ 0.01 ppm (Japan MRL) จากนั้นคลอร์ไพรีฟอสค่อยๆ สลายตัวจนวันที่ 15 หลังการฉีดพ่นพบปริมาณคลอร์ไพรีฟอสตกค้างในทุกอัตราต่ำกว่า EU MRL ขณะเดียวกันหลังจากการฉีดพ่น 2 ชั่วโมง แปลงที่ฉีดพ่นด้วยอัตราสูงกว่าอัตราแนะนำ มีปริมาณไดเมทโธเอตสูงที่สุด สูงกว่าแปลงที่ฉีดพ่นด้วยอัตราแนะนำ และฉีดพ่นต่ำกว่าอัตราแนะนำ (5.47 ± 0.28, 2.09 ± 0.15, 0.56 ± 0.03 ppm ตามลำดับ) ค่ามาตรฐานของไดเมทโธเอตที่ยอมให้ตรวจพบได้ในต้นหอมคือ 2 ppm (EU MRL) และ 1 ppm (Japan MRL) ไดเมทโธเอตสลายตัวเร็วกว่าคลอร์ไพรีฟอสและตรวจพบสารตกค้างต่ำกว่า MRL หลังการฉีดพ่นครั้งสุดท้าย 3 วัน ดังนั้นระยะการเก็บเกี่ยวของคลอร์ไพรีฟอสและไดเมทโธเอตในการปลูกต้นหอม ควรมากกว่า 15 วันและ 3 วัน ตามลำดับ