การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสาร plumbagin ในเซลล์แขวนลอยจาก hairy root ของเจตมูลเพลิงแดง โดยการกระตุ้นด้วย methyl jasmonate ในอาหารสูตร B5

Main Article Content

ปาริชาต ประสาทศิลป์
ศุภธิดา อับดุลลากาซิม
เสริมศิริ จันทร์เปรม

บทคัดย่อ

เจตมูลเพลิงแดง (Plumbago indica L.) เป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งในรากของเจตมูลเพลิงแดงมีสาร plumbagin ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และต้านการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเพิ่มศักยภาพการผลิตสาร plumbagin ในเซลล์แขวนลอยที่ชักนำจาก hairy root ของเจตมูลเพลิงแดง โดยทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์แขวนลอยเป็นเวลา 30 วัน ในอาหาร 3 สูตร คือ Murashige and Skoog (MS), Gamborg (B5) และ Schenk and Hidebrandt (SH) ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เซลล์แขวนลอยที่เพาะเลี้ยงในอาหารสูตร B5 และ SH มีการเจริญเติบโตใกล้เคียงกันแต่ดีกว่าที่เพาะเลี้ยงในอาหารสูตร MS ส่วนการสร้างสาร plumbagin ซึ่งตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี high performance liquid chromatography พบว่า เซลล์แขวนลอยที่เพาะเลี้ยงในอาหารสูตร B5 ผลิตสาร plumbagin มากที่สุด ดังนั้น อาหารสูตร B5 จึงเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตสาร plumbagin สำหรับการทดลองนี้ และเมื่อเพาะเลี้ยงเซลล์แขวนลอยในอาหารสูตร B5 เพื่อศึกษาระยะการเจริญเติบโตและการผลิตสาร plumbagin ในช่วง 30 วันของการเพาะเลี้ยง พบว่าเซลล์อยู่ในระยะ exponential phase ในช่วงวันที่ 6–18 ของการเพาะเลี้ยง ส่วนการผลิตสาร plumbagin นั้น ตรวจพบว่าเริ่มสร้างได้ในวันที่ 12 และสร้างมากขึ้นชัดเจนในวันที่ 18 โดยสร้างได้มากที่สุด ในวันที่ 24 ของการเพาะเลี้ยง สำหรับการศึกษาผลของ methyl jasmonate ต่อการผลิตสาร plumbagin โดยเติม methyl jasmonate ให้มีความเข้มข้นสุดท้าย 0 20 40 60 80 และ 100 ไมโครโมลาร์ ลงในเซลล์แขวนลอยที่มีอายุ 18 วัน พบว่า methyl jasmonate ทุกความเข้มข้นสามารถกระตุ้นการสร้างสาร plumbagin ในเซลล์แขวนลอยได้ โดยความเข้มข้นสุดท้ายที่ 40 มิลลิโมลาร์ สามารถสร้างสาร plumbagin ได้สูงสุด 7.14 มิลลิกรัมต่อลิตร ในวันที่ 1 หลังการกระตุ้น ซึ่งมากกว่าเซลล์ที่ไม่ถูกกระตุ้น 3.24 เท่า

Article Details

บท
บทความวิจัย