การยอมรับเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ธนภูมิ เวียตตัน
นคเรศ รังควัต
พุฒิสรรค์ เครือคำ
สายสกุล ฟองมูล

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล เศรษฐกิจ และสังคมของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอินทรีย์ 2) ทัศนคติต่อเกษตรอินทรีย์และระดับการยอมรับเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วงของเกษตรกร 3) ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วงของเกษตรกร และ 4) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยอมรับเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างคือ เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 167 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ
     ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 52 ปี จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 5 คน แรงงานในการทำเกษตรต่อครอบครัวเฉลี่ย 2 คน มีขนาดพื้นที่ในการปลูกมะม่วงอินทรีย์เฉลี่ย 2 ไร่ ใช้แหล่งเงินทุนตนเองในการทำเกษตร รายได้จากการปลูกมะม่วงเฉลี่ย 226,000 บาทต่อปี รายได้จากการปลูกพืชอื่นเฉลี่ย 104,034 บาทต่อปี และมีรายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 106,128 บาทต่อปี ประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์เฉลี่ย 5 ปี เคยมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ เฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เฉลี่ย 24 ครั้งต่อปี จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อการทำเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วง ในภาพรวมทุกด้านอยู่ในระดับมากสุด (ค่าเฉลี่ย 4.05) โดยพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรมีค่าเฉลี่ยทัศนคติมากที่สุด คือ ด้านการจำหน่ายผลผลิต (ค่าเฉลี่ย 4.19) รองลงมา ได้แก่ ด้านการเก็บเกี่ยว (ค่าเฉลี่ย 4.09) ด้านการแปรรูปผลผลิต (ค่าเฉลี่ย 4.07) ด้านการเตรียมดินและพื้นที่ปลูกพืช (ค่าเฉลี่ย 4.01) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยที่สุด คือ ด้านการป้องกันกำจัดโรคและแมลง (ค่าเฉลี่ย 3.89) ส่วนระดับการยอมรับเกษตรอินทรีย์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรมีการยอมรับเกษตรอินทรีย์มากที่สุด คือด้านการแปรรูปผลผลิต (ค่าเฉลี่ย 3.93) รองลงมา ได้แก่ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต (ค่าเฉลี่ย 3.89) ด้านการเตรียมดินและพื้นที่ปลูกพืช ด้านการปลูก (ค่าเฉลี่ย 3.85) ซึ่งทั้ง 2 มีค่าเฉลี่ยที่เท่ากัน ด้านการจำหน่ายผลผลิต มีค่าเฉลี่ย 3.74 และด้านการป้องกันกำจัดโรคและแมลง (ค่าเฉลี่ย 3.73) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วงของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อายุ (sig. = 0.016) การศึกษา (sig. = 0.000) แรงงานที่ใช้ในการเกษตร (sig. = 0.000) และทัศนคติต่อการทำเกษตรอินทรีย์ (sig. = 0.000)
     ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยอมรับเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วงของเกษตรกรในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาด้านที่ 1) ด้านการปลูก ในเรื่องของการคัดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาของมะม่วงที่มีขนาดไม่เท่ากัน แคระแกร็น และบางต้นเติบโตช้าทั้งที่ให้น้ำและปุ๋ยในปริมาณที่เท่ากัน ข้อเสนอแนะ บริเวณรอบๆควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อบำรุงดินให้มีการระบายน้ำได้ดี และเมื่อเริ่มการปลูกใหม่ควรให้น้ำ 4-5 ครั้งต่อวัน และควรใส่น้ำหมักหรือปุ๋ยหมักสม่ำเสมอ 2) ด้านโรคและแมลง เนื่องจากการใช้น้ำหมักชีวภาพส่งผลช้าในการไล่แมลงและกำจัดศัตรูพืชจึงทำให้เกิดแมลงรบกวน และเชื้อราตามมา ข้อเสนอแนะ เกษตรกรต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพกับการใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และวิธีอื่นๆ 3) ด้านการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากผลผลิตมีจำนวนมากแรงงานในการเก็บผลผลิตมีไม่เพียงพอ และใช้เวลาในการเก็บ ส่วนหลังการเก็บเกี่ยวปัญหาในเรื่องของแมลงวันทอง และวิธีการเก็บให้ผลผลิตอยู่ได้นานขึ้น ข้อเสนอแนะ อยากให้หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้ในเรื่องการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธีให้มากยิ่งขึ้น 4) ด้านการแปรรูปผลผลิต เมื่อทำการถนอมอาหารถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติในบางครั้งมีรสชาติที่เปรี้ยว และเหม็นเปรี้ยว รวมถึงมีเชื้อราอยู่ในผลิตภัณฑ์ ข้อเสนอแนะ เกษตรกรต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เข้ามาอบรมส่งเสริมวิธีการแปรรูปที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. มะม่วงไทยดาวเด่น ส่งออกอาเซียนโต 143 เปอร์เซ็นต์. แหล่งข้อมูล: https://www.dtn.go.th/th/news/5f0d7efbef414014e47b95a5?cate=5cff753c1ac9e e073b7bd1c5 (28 มิถุนายน 2564).

ธนภัทร ขาววิเศษ. 2563. การยอมรับเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี. บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรังสิต.

พนิดา สาลีอาจ. 2562. การยอมรับเทคโนโลยีการปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกร ในเขตเทศบาลตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย, วารสารผลิตกรรมการเกษตร 1(2): 51-62.

วนิดา สุจริตธุรการ และจิตผกา ธนปัญญารัชวงศ์. 2553. ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกรในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วารสารเทคโนโลยีสุรนารี 4(1): 29-44.

วินัย วิริยะอลงกรณ์. 2543. การศึกษาผลของการตัดแต่งกิ่งต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและติดผลของมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ในระยะปลูกชิด, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

ศิริพร เมืองแก้ว. 2550. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. ปัญหาพิเศษ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมศักดิ์ รอดลอย. 2557. รูปแบบการดำเนินชีวิต การรับรู้ข่าวสาร และทัศนคติ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคผักออร์แกนิคของผู้บริโภคในเขตจังหวัดนนทบุรี. (การค้นคว้าอิสระ). มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

โสมภัทร์ สุนทรพันธ์. 2552. การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ในสวนมะม่วงของเกษตรกรในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่. ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้