การประเมินปริมาณฝุ่นละอองของคนงานทำอิฐมอญแดง ในตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการเผาอิฐมอญ ในพื้นที่หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเก็บตัวอย่างฝุ่นทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม จาก ผู้ปฏิบัติงานโรงงานเตาเผาอิฐมอญ (Personal sampling) จำนวน 20 คน หมู่ละ 10 คน เพื่อตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถเข้าถึงและสะสมในถุงลมปอดได้ (Respirable dust) และเก็บตัวอย่างในพื้นที่ (Area sampling) จำนวน 12 จุด หมู่ละ 6 จุด เพื่อตรวจวัดฝุ่นละอองรวม (Total dust) โดยเลือกจุดตรวจวัดให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตรรอบพื้นที่โรงงานเตาเผาอิฐมอญ ซึ่งพิจารณาจากพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบ (Sensitive Receptor) ประกอบด้วย วัด และโรงเรียน ร่วมกับความหนาแน่นของชุมชน สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือรูปแบบกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนพิกัดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศประจำถิ่นโดยเฉพาะทิศทางลมในคาบ 30 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาปริมาณความเข้มข้นฝุ่นละออง จากการตรวจวัดสามครั้งตามฤดูกาลคือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว พบว่า ปริมาณความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Respirable dust) อยู่ในช่วง 0.00 ถึง 1.22 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 1.05 ถึง 2.50 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 4.30 ถึง 12.21 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ และปริมาณความเข้มข้นฝุ่นรวม (Total dust) อยู่ในช่วง 0.00 ถึง 1.75 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร 0.97 ถึง 2.35 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 1.50 ถึง 4.50 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งความเข้มข้นของฝุ่นทุกจุดตรวจวัด ทั้ง 3 ฤดูอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นจะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญและพิจารณาการรับสัมผัสฝุ่น พร้อมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการการรับสัมผัสฝุ่นของคนงานทำอิฐมอญแดงในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว