ชีววิทยาและการประมงปูม้าในประเทศไทย

Main Article Content

สุดารัตน์ นิลรัตน์
กัญญารัตน์ งามเจริญ
ธนิษฐา ทรรพนันทน์
อมรศักดิ์ สวัสดี

บทคัดย่อ

            ข้อมูลชีววิทยาและการประมงนับเป็นข้อมูลวิชาการที่สำคัญเพื่อประกอบการวางแผนจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ปูม้า (Portunus pelagicus) เป็นทรัพยากรประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ในอดีตประเทศไทยส่งออกปูม้าเป็นอันดับ 4 ของโลก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทรัพยากรปูม้ามีจำนวนลดลงอย่างมาก ดังนั้นงานวิจัยเอกสารชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมงานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ข้อมูลทางวิชาการในอดีตชี้ให้เห็นว่าการประมงปูม้าในปัจจุบันอยู่บนเงื่อนไขของการประมงที่เกินศักยภาพการผลิตทดแทนโดยธรรมชาติ ขนาดตัวของปูม้าที่จับขึ้นมาใช้ประโยชน์ขนาดเล็กลง ขนาดปูม้าเล็กที่สุดที่สามารถสืบพันธุ์ได้มีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับอดีต จึงส่งผลต่อความดกไข่ที่มีจำนวนลดลงเนื่องจากขนาดตัวของพ่อแม่พันธุ์เล็กลง ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากระดับการลงแรงประมงสูงและปูม้ามีการปรับตัวทางชีววิทยาเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ ฤดูกาลสืบพันธุ์และวางไข่ของปูม้ามีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และระหว่างปีที่ทำการศึกษา โดยข้อมูลทางชีววิทยาจากการศึกษาในอดีตจนถึงปัจจุบันแนะนำว่าควรจับปูม้าที่มีความกว้างกระดองภายนอกใหญ่กว่า 9.5 เซนติเมตร มาใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันการเสื่อมโทรมของประชากร สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะความเค็ม อุณหภูมิ และออกซิเจนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราการรอดของลูกปูม้า นอกจากนี้ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องเช่น หญ้าทะเล พื้นท้องทะเลที่เป็นทราย กระแสน้ำ เป็นตัวแปรที่ต้องคำนึงในการวางแผนฟื้นฟูปูม้าเพื่อเพิ่มอัตราการรอดในธรรมชาติ

Article Details

บท
บทความวิจัย