ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับของชมพู่ทับทิมจันทร์ในหนูเบาหวานที่ถูกเหนี่ยวนำ ด้วยสเตรปโทโซโทซิน

Main Article Content

วันทณี หาญช้าง
ชนัญชิดา สีดาดี
ทัตดาว ภาษีผล

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทดสอบผลของชมพู่ทับทิมจันทร์ต่อการต้านความเสียหายของตับจากภาวะเบาหวานในหนูขาวเพศผู้  หนูขาวจะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานโดยการฉีดสารสเตรปโทโซโทซิน ขนาด 65 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้องแบบครั้งเดียว หลังจากนั้นให้ผงชมพู่ทับทิมจันทร์ขนาด 50, 100, และ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัว ทางปากแก่หนูเบาหวานเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการวัดพารามิเตอร์ทางชีวเคมี และการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งวัดการแสดงออกของตัวบ่งชี้ภาวะเครียดของ ER และ การแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ในเนื้อเยื่อตับ ผลการทดลองพบว่าหนูเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือด และระดับเอนไซม์ aspartate transaminase (AST), alanine transaminase (ALT), และ alkaline phosphatase (ALP) ในซีรั่มสูงกว่าหนูปกติ สอดคล้องกับการลดลงของน้ำหนักตับ นอกจากนี้ยังพบการลดลงของการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทสและเอนไซม์คะตาเลส การลดลงของการแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ที่ต้านการตายแบบอะพอพโทซิส และการเพิ่มขึ้นของการแสดงออกของโปรตีน cleaved caspase-3 และ GRP78 และ CHOP ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของภาวะเครียดของ ER ในเนื้อเยื่อตับของหนูเบาหวาน อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้พบว่าการให้ผงชมพู่ทับทิมจันทร์แก่หนูเบาหวานสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับเอนไซม์ตับในซีรั่ม  และการแสดงออกของโปรตีน cleaved caspase-3 และ GRP78 และ CHOP ในเนื้อเยื่อตับได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแปรผันตรงตามความเข้มข้นของชมพู่ทับทิมจันทร์ นอกจากนี้ผงชมพู่ทับทิมจันทร์ยังสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และการแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ในเนื้อเยื่อตับของหนูเบาหวานด้วย ดังนั้นจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าชมพู่ทับทิมจันทร์มีฤทธิ์ต้านการเกิดความเสียหายของตับจากภาวะเบาหวานในหนูขาวเพศผู้ โดยอาจจะเป็นผลมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของชมพู่ทับทิมจันทร์ และการยับยั้งภาวะเครียดของ ER ที่ทำให้เกิดอะพอพโทซิส

Article Details

บท
บทความวิจัย