ความเป็นพิษและประสิทธิภาพของคลอโรไซลินอลต่อการนำสลบปลานิล (Oreochromis niloticus) และปลาทอง (Carassius auratus)

Main Article Content

พัชรี ครูขยัน
เกษมณี สวนสี
ศุภาพิชญ์ วิสาวะโท

บทคัดย่อ

การศึกษาความเป็นพิษของคลอโรไซลินอลที่มีผลต่อปลานิล (Oreochromis niloticus) ขนาดความยาวเหยียดเฉลี่ย 3.22±0.49 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉลี่ย 0.67±0.01 กรัม และปลาทอง (Carassius auratus) ขนาดความยาวเหยียดเฉลี่ย 8.79±0.76 เซนติเมตร และน้ำหนักเฉลี่ย 5.97±1.45 กรัม โดยวิธีชีววิเคราะห์แบบน้ำนิ่ง (static bioassay) งดให้อาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนทำการทดลอง และในระหว่างการทดลอง พบว่าระดับความเข้มข้นของคลอโรไซลินอลที่ทำให้ปลาตาย 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 5 นาที (5-min LC50)  ของปลานิลและปลาทองมีค่าเท่ากับ 13.24 และ 29.95 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 95 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเท่ากับ 11.36-15.67 และ 29.05-30.89 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ  และระดับความเข้มข้นของคลอโรไซลินอลที่เหมาะสมในการสลบระยะที่ 3 (Stage III: Loss of reflex reactivity) ภายในระยะเวลา 2 นาที และมีระยะเวลาการฟื้นสลบเร็วที่สุดของปลานิลและปลาทองคือ 12.0 และ 24.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ โดยเป็นความเข้มข้นที่ทำให้ปลามีอัตรารอดตาย 100 เปอร์เซ็นต์หลังจากการฟื้นตัวจากการสลบที่ 24 ชั่วโมง และพบว่าการเพิ่มความเข้มข้นของคลอโรไซลินอลส่งผลให้ปลานิลและปลาทองสลบเร็วขึ้น และสลบได้นานกว่า โดยมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05)

Article Details

บท
บทความวิจัย