ประสิทธิผลของการจัดโปรแกรมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ความรู้ ด้านการยศาสตร์เพื่อลดอาการปวดเมื่อยหลังและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังของ คนงานทอผ้าด้วยมือ ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

Main Article Content

พัชรินทร์ ใจจุ้ม
ทัศน์พงษ์ ตันติปัญจพร

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการจัดโปรแกรมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ความรู้ด้านการยศาสตร์เพื่อลดอาการปวดเมื่อยหลังและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง โดยทำการศึกษาในคนงานทอผ้าด้วยมือ ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จำนวน 30 คน ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 คน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลอาการปวดหลังโดยใช้แบบสอบถาม และ 2) ข้อมูลระดับสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังโดยใช้เครื่องมือวัดแรงเหยียดหลัง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติแมนวิทเนย์ยู (Mann - Whitney U Test) และเปรียบเทียบข้อมูลภายในกลุ่มโดยใช้สถิติวิลคอกซัน (Wilcoxon Signed - Rank Test) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%


ผลการศึกษาพบว่า อาการปวดเมื่อยหลังก่อนการให้โปรแกรมระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.184) โดยภายหลังการให้โปรแกรม พบว่า อาการปวดเมื่อยหลังของกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(p-value = 0.002) ในขณะที่กลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 1.000) และสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังก่อนการให้โปรแกรมระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.015) และเมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม พบว่า ภายหลังการให้โปรแกรมสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่าง
มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.004) ในขณะกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.195) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ความรู้ด้านการยศาสตร์อาจมีประสิทธิผลทำให้ลดอาการปวดเมื่อยหลังและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังได้ คนงานทอผ้าด้วยมือหรือกลุ่มอาชีพอื่นที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันสามารถนำโปรแกรมไปประยุกต์ใช้ได้

Article Details

บท
บทความวิจัย