องค์ประกอบชนิดพันธุ์และการกระจายของไม้ต้นในสังคมพืชป่ายางนา (Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don) และสังคมพืชป่าตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.) ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงองค์ประกอบชนิดพันธุ์และการกระจายของไม้ต้นในสังคมพืชป่ายางนา (D. alatus) และสังคมพืชป่าตะเคียนทอง (H. odorata) ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการวางแปลงวงกลมขนาด 0.1 เฮกแตร์ จำนวน 252 แปลง ในพื้นที่หย่อมป่าตลอดลำน้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 372 กิโลเมตร ตัดผ่าน 11 จังหวัด ทำการวิเคราะห์ลักษณะสังคมพืชเชิงปริมาณ เช่น จำนวนชนิด ความหนาแน่นของต้นไม้ ขนาดพื้นที่หน้าตัด ดัชนีความสำคัญ (IVI) และดัชนีความหลากชนิด (Hʹ) พร้อมทั้งวิเคราะห์การกระจายตามถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของแต่ละสังคมพืชโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (GIS) ผลการศึกษาพบว่า สังคมพืชป่าตะเคียนทองแสดงค่าของลักษณะสังคมพืชเชิงปริมาณสูงกว่าสังคมพืชป่ายางนาทุกค่า โดยชนิดไม้เด่นในสังคมพืชป่าตะเคียนทอง เช่น ตะเคียนทอง ยางนา และ สะตือ เป็นต้น ส่วนสังคมพืชป่ายางนามีชนิดไม้เด่น เช่น ยางนา มะเดื่ออุทุมพร และ ตะเคียน เป็นต้น และพบว่าปัจจัยแวดล้อม ได้แก่ ระดับชั้นความสูงจากน้ำทะเล ร้อยละความลาดชัน องศาทิศด้านลาด ระยะห่างจากแม่น้ำ ความโค้งนูนของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิเฉลี่ย และระยะห่างจากทะเล มีอิทธิพลต่อการกระจายของสังคมพืชป่ายางนาและป่าตะเคียน ที่ระดับความถูกต้องร้อยละ 82.0 และ 86.4 ตามลำดับ ส่งผลให้ปรากฏถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของแต่ละสังคมพืชในระดับเหมาะสมมาก ปานกลาง และเหมาะสมน้อย ของสังคมพืชป่ายางนา เท่ากับ 2,566,875 และ 3,361,875 และ 2,978,750 ไร่ ตามลำดับ และสังคมพืชป่าตะเคียนทอง เท่ากับ 1,906,875 และ 3,423,125 และ 3,577,500 ไร่ ตามลำดับ
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว