ผลของสารพาโคลบิวทราโซลต่อการแสดงออกของยีน ที่เกี่ยวข้องในการสร้างดอกเพศเมียในตาดอกของต้นสบู่ดำ
Main Article Content
บทคัดย่อ
สบู่ดำเป็นพืชพลังงานทางเลือกใหม่ชนิดหนึ่งที่สามารถนำเมล็ดมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ อย่างไรก็ตามสบู่ดำมีจำนวนดอกเพศเมียน้อยกว่าดอกเพศผู้ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตของเมล็ดต่ำลงไปด้วย ซึ่งการประยุกต์ใช้สารชะลอการเจริญเติบโตของพืชเช่นสารพาโคลบิวทราโซล (PCB) ส่งผลให้มีการเพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้นในพืชหลายชนิด วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือศึกษาผลของสาร PCB ต่อรูปแบบการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการสร้างโครงสร้างต่างๆ ของดอก (ABCE model) และยีนกำหนดเพศ ในตาดอกของต้นสบู่ดำ เพื่อค้นหายีนที่น่าจะควบคุม การสร้างดอกเพศเมีย จากการทดลองพบว่าสาร PCB ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนดอกเพศเมียที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p≤0.05) แต่จำนวนดอกเพศผู้ไม่มีความแตกต่างกันกับชุดควบคุม และเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนของดอกเพศเมียต่อดอกเพศผู้แล้ว พบว่าสาร PCB ส่งผลให้อัตราส่วนของดอกเพศเมียต่อดอกเพศผู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p≤0.05) และผลของสาร PCB ต่อรูปแบบการแสดงออกของยีน ABCE model และยีนกำหนดเพศในตาดอกที่ชั่วโมงที่ 0 4 และ 24 พบว่าสาร PCB เร่งการแสดงออกของยีนในกลุ่ม ABCE model ให้มีการแสดงออกที่สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญในตาดอกชั่วโมงที่ 4 (p≤0.05) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญในชั่วโมงที่ 24 (p≤0.05) แต่ยีน ในกลุ่มดังกล่าวมีรูปแบบการแสดงออกที่ไม่แตกต่างกัน จึงสันนิษฐานว่ายีนในกลุ่ม ABCE model อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในการอธิบายกลไกการกำหนดเพศของดอกสบู่ดำได้ ผลการวิเคราะห์การแสดงออกของยีน TASSELSEED2 (JcTS2) ต่อความสัมพันธ์กับจำนวนดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย พบว่ายีนดังกล่าวมีความสัมพันธ์เชิงลบกับจำนวนดอกเพศเมียอย่างมีนัยสำคัญ (r=-0.999; p≤0.05) กล่าวคือเมื่อลดการแสดงออกของยีนดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนดอกเพศเมียเพิ่มมากขึ้นในตาดอกสบู่ดำ ดังนั้นในงานวิจัยนี้คาดว่ายีน JcTS2 น่าจะมีความเกี่ยวข้องต่อการกำหนดเพศของดอกสบู่ดำ และยีนดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลทางชีวภาพในการปรับปรุงสายพันธุ์ของสบู่ดำและพืชอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว