ผลกระทบทางด้านสุขภาพของแรงงานคุ้ยขยะในหลุมฝังกลบขยะ เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

สมเจตน์ ทองดำ
จินตนา ศิริบูรณ์พิพัฒนา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพทางกาย จิตใจและสังคม และคุณภาพของอาหารและน้ำดื่มทางชีวภาพ ของแรงงานคุ้ยขยะเฉพาะที่ ในหลุมฝังกลบขยะเทศบาลเมืองวารินชำราบ         อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างคนที่มาคุ้ยขยะอยู่ในหลุมฝังกลบขยะเทศบาลเมือง        วารินชำราบ จำนวน 101 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์  และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารและน้ำดื่มทางด้านชีวภาพ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด


ผลการตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารและน้ำดื่ม พบการปนเปื้อน ร้อยละ 100.00 และพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลในน้ำดื่มทั้งหมด ร้อยละ 100.00 เช่นกัน โดยจากประวัติการเจ็บป่วยพบว่าแรงงานมีอาการท้องเสีย จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 6.67 ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพทางกายเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ผ่าน     โดยแรงงานคุ้ยขยะมีความรู้สึกว่าสุขภาพแย่ลงกว่าเดิม จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 34.65 ทั้งนี้ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุจากมูลฝอยมีคมจากการทำงานในสถานที่ฝังกลบมูลฝอยมากที่สุด ร้อยละ 55.45 รองลงมา คือ ได้รับผลกระทบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง ผื่นคัน และผิวหนังอักเสบ ร้อยละ 41.58 และเกิดความรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จากการทำงานในหลุมฝังกลบที่มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 27.72 ตามลำดับ ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา มีความรู้สึกว่าแย่ลงกว่าเดิม จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 6.93 โดยผลกระทบเชิงลบจากการทำงานในหลุมฝังกลบมูลฝอยที่พบมากที่สุด ได้แก่ ความรู้สึกเดือดร้อน รำคาญ ที่มีแมลงวันจำนวนมาก มารบกวนในการทำงาน ร้อยละ 57.43 รองลงมาคือ ความรู้สึกกังวลหากต้องตั้งบ้านเรือนใกล้กับสถานที่ฝังกลบมูลฝอย คิดเป็น ร้อยละ 46.53 และมีความรู้สึกกังวลว่าผลกระทบจากการฝังกลบมูลฝอยจะส่งผลต่อสุขภาพของตนเองร้อยละ 43.56 ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพทางสังคม พบว่า ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.67 โดยผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างอาชีพหรือเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่สถานที่ฝังกลบมูลฝอยตั้งอยู่ใกล้บ้าน โดยส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ร้อยละ 97.03 และมีความช่วยเหลือกัน มีความสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ร้อยละ 89.11 ผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัวลดลง ร้อยละ 19.18 และจากการมาทำงานที่หลุมฝังกลบแห่งนี้ทำให้บุคคลอื่นแสดงอาการรังเกียจ ร้อยละ 12.87 ดังนั้น เทศบาลเมืองวาริน-ชำราบควรดำเนินการจัดการดูแลสุขภาพในกรณีที่มีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานในเบื้องต้น โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังและอาการทางระบบหายใจ และควรมีการสุขาภิบาลในบริเวณสถานที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะ ได้แก่การกำจัดแมลงวันและสัตว์นำโรค การดำเนินการจัดสุขาภิบาลอาหาร น้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย รวมทั้งควรมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนที่ปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและโรคที่เกิดจากการทำงาน การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการสัมผัสกับขยะอันตราย และ จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้คุ้ยขยะอย่างต่อเนื่อง 

Article Details

บท
บทความวิจัย