ประสิทธิภาพของอีเอ็มบอลจากขยะอินทรีย์ในการบำบัดน้ำเสียในจังหวัดอุบลราชธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของ EM Ball (EMB) ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่แตกต่างกัน โดยแบ่งชุดการทดลองออกเป็น 2 ชุดตามตัวอย่างน้ำเสีย ได้แก่ น้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อแรกของระบบบำบัดน้ำเสียมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และน้ำเสียท่วมขังในภาวะน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 น้ำเสียแต่ละประเภทจะแบ่งเป็นชุดละ 6 ถัง ได้แก่ ถังที่ 1 ไม่เติม EMB (ถังควบคุม) ถังที่ 2 เติม EMB สูตรปกติ (ไม่ผสมขยะอินทรีย์) ถังที่ 3 4 5 และ 6 เติม EMB สูตรผสมเศษอาหาร เศษผัก เศษเปลือกผลไม้ และ ผักตบชวา ตามลำดับ อัตราส่วนการผสมอยู่ที่ 10 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากสูตรปกติ ซึ่งจะทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำก่อนบำบัด และที่ระยะเวลา 3, 7 และ 14 วัน ภายหลังการเติม EMB คุณภาพน้ำที่ศึกษา ได้แก่ อุณหภูมิ (Temperature) ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของแข็งแขวนลอย (Suspended Solids: SS) ออกซิเจนที่ละลายน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) บีโอดี (BOD) และ ซีโอดี (COD) จากผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพในการบำบัด COD และ BOD มีแนวโน้มดีขึ้นในน้ำเสียทั้งสองแหล่ง โดยในน้ำเสียจากการท่วมขัง EMB สูตรปกติ บำบัด COD ได้ดีที่สุด คิดเป็น 70.8% สูตรผสมเปลือกผลไม้และสูตรผสมผักตบชวา บำบัด BOD ได้ดีที่สุด คิดเป็นร้อย 80.0 เท่ากัน ในน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสีย พบว่า EMB สูตรผสมเปลือกผลไม้ บำบัด COD ได้ดีที่สุด คิดเป็น 76.2% สูตรผสมเปลือกผลไม้และสูตรผสมผักตบชวา บำบัด BOD ได้ดีที่สุด คือ 80.7% เท่ากัน และเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติในถังควบคุมที่ไม่มีการเติม EMB พบว่า การเติม EMB มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียมากกว่าการปล่อยให้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียเองตามธรรมชาติ สำหรับการศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาสัดส่วนที่เหมาะสมในสูตร EMB ที่เป็นเปลือกผลไม้และผักตบชวา หรือใช้ทั้งสองชนิดนี้ผสมกัน เพื่อดูว่าสัดส่วนเท่าใดที่จะทำให้มีการบำบัดได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และศึกษาประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของ EMB ในระยะยาว
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว