ผลของชนิดฟิล์มพลาสติกต่อจลนศาสตร์การปล่อยไอระเหยเอทานอล และการประยุกต์ใช้ในบรรจุภัณฑ์แอคทีฟ

Main Article Content

พัชรี มะลิลา
วีรเวทย์ อุทโธ
ฤทธิรงค์ พฤฑฒิกุล
เรวัติ ชัยราช
กฤตยา อุทโธ

บทคัดย่อ

บรรจุภัณฑ์แอคทีฟที่มีระบบการปล่อยไอระเหยเอทานอลเข้าสู่บรรยากาศบรรจุภัณฑ์ได้รับความสนใจพัฒนาเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผักและผลไม้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของชนิดฟิล์มพลาสติกประเภท PLA, BOPP และ LDPE ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของซองควบคุมการปล่อยไอระเหยเอทานอลต่อจลนศาสตร์การปล่อยไอระเหยเอทานอล ผลการศึกษา พบว่า ค่า FPE ซึ่งศึกษาด้วยระบบ isostatic และ gravimetric ที่อุณหภูมิ 25ºC มีความผันแปรกับความเข้มข้นของไอระเหยเอทานอล (0.36-3.17 mol/m3)  ในรูปแบบเอกซ์โพเนนเชียล และสามารถทำนายได้ดีด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ (RMSE เท่ากับ 0.0003) เมื่อพิจารณาที่ความเข้มข้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่า ค่า FPE ของฟิล์มสามารถเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ LDPE > BOPP > PLA เมื่อนำฟิล์มทั้งสามมาทำเป็นซองควบคุมฯ พบว่า อัตราเร็วของการปล่อยและระดับของความเข้มข้นของไอระเหยเอทานอลในระบบปิดสอดคล้องกับค่า FPE ของฟิล์ม การศึกษานี้ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้ซองควบคุมฯ ในบรรจุภัณฑ์บรรยากาศดัดแปรแอคทีฟบรรจุมะละกอสุกตัดแต่งพร้อมบริโภคและเปรียบเทียบกับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีซองควบคุมฯ (สิ่งทดลองควบคุม) พบว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีซองควบคุมฯ สามารถชะลอการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ดีกว่าสิ่งทดลองควบคุม ยกเว้นบรรจุภัณฑ์ที่มีซองควบคุมฯ ซึ่งทำจากฟิล์ม PLA ทั้งนี้ซองควบคุมฯ ที่ทำจากฟิล์ม BOPP สามารถปล่อยไอระเหยเอทานอลและสะสมความเข้มข้นของไอระเหย       เอทานอลในบรรยากาศบรรจุภัณฑ์ได้สูงกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีซองควบคุมฯที่ทำจากฟิล์ม LDPE ส่งผลให้ซองควบคุมฯที่ทำจากฟิล์ม BOPP ควบคุมการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าดีกว่า อย่างไรก็ตามความเข้มข้นของเอทานอลที่สะสมในเนื้อเยื้อของมะละกอบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีซองควบคุมฯ ที่ทำจากฟิล์ม LDPE มีค่าที่สูงกว่าซองควบคุมฯ ที่ทำจากฟิล์ม BOPP ในภาพรวมฟิล์ม BOPP มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นซองควบคุมฯในรูปแบบปล่อยช้า แต่ยังคงสามารถปล่อยไอระเหยให้อยู่ในระดับที่ชะลอการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้


 

Article Details

บท
บทความวิจัย