ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติต่ออันตรายของการสูบบุหรี่ กับการสูบบุหรี่ของนักเรียนชั้นมัธยมปลาย : กรณีศึกษาอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพ นำไปสู่ภาระโรคที่สำคัญหลายโรค ผู้ที่สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตในวัยทำงาน ประชาชนไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ในภาพรวมลดลง แต่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ของกลุ่มเยาวชน จึงได้ศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับอันตรายบุหรี่ ทัศนคติต่ออันตราย การสูบบุหรี่ กับการสูบบุหรี่ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร เลือกโดยใช้วิธีการสุ่มแบบมีระบบ (Systematic random sampling) จำนวน 110 คน วิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้ Univariable logistic regression
นักเรียนมัธยมศึกษาสูบบุหรี่ ร้อยละ 10.0 มีความรู้เกี่ยวกับบุหรี่อยู่ในระดับที่ดี ร้อยละ 92.7 มีทัศนคติต่อการไม่สูบบุหรี่ อยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 74.5 สถานที่ที่ไปสูบบุหรี่บ่อยที่สุด คือ บ้านเพื่อน ร้อยละ 60.0 เหตุผลในการสูบบุหรี่ครั้งแรก คือเพื่อนชวน ร้อยละ 40.0 ผู้ที่ชักชวนให้สูบบุหรี่มากที่สุดคือเพื่อน ร้อยละ 70.0 เมื่อวิเคราะห์ถดถอยแบบโลจิสติกเพื่อหาความสัมพันธ์ พบว่านักเรียนที่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ในระดับดีมีโอกาสสูบบุหรี่ไม่แตกต่างจากนักเรียนที่มีความรู้ในระดับต่ำ (OR = 0.76, 95%CI = 0.08 – 6.83) แต่นักเรียนที่มีทัศคติต่ออันตรายของการสูบบุหรี่ในระดับดีมีโอกาสสูบบุหรี่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่มีทัศคติต่ออันตรายของการสูบบุหรี่ในระดับปานกลางและต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR = 0.22, 95% CI = 0.06 – 0.80)
จากผลการศึกษาการมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไม่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ในเด็กนักเรียนมัธยม ส่วนนักเรียนที่มีทัศนคติต่ออันตรายของบุหรี่ในระดับปานกลางและต่ำมีโอกาสสูบบุหรี่มากกว่าเด็กที่มีทัศนคติดีประมาณ 4.5 เท่า ดังนั้นรูปแบบการป้องกันการสูบบุหรี่ หรือส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ในนักเรียนมัธยมควรเน้นที่การสร้างทัศนคติต่ออันตรายของการสูบบุหรี่
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว