ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อยยูเรียเพื่อประยุกต์ใช้ในทางเกษตรกรรม

Main Article Content

นิษฐา คูหะธรรมคุณ
สายันต์ แสงสุวรรณ

บทคัดย่อ

เกษตรกรรมในปัจจุบันนี้มีการใช้ปุ๋ยเคมีกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยไนโตรเจนหรือปุ๋ยยูเรียซึ่งเป็นแม่ปุ๋ยที่ให้แร่ธาตุอาหารหลักไนโตรเจน เนื่องจากพืชทุกชนิดมีความต้องการในปริมาณที่สูงมาก โดยทั่วไปธาตุอาหารไนโตรเจนในดินมักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช จึงมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมเพื่อให้พืชเจริญเติบโตงอกงามและได้ผลผลิตที่ดี โดยปุ๋ยยูเรียช่วยทำให้พืชมีใบสีเขียว มีส่วนในการสังเคราะห์แสง ทำให้พืชเจริญเติบโต มีความสูง ใบเจริญงอกงามมีขนาดใหญ่ ใบดกหนา ใบสีเขียวเข้ม และช่วยเพิ่มโปรตีนในผลผลิตเนื่องจากปุ๋ยเคมีสามารถให้ธาตุอาหารแก่พืชได้เพียงพอกับความต้องการของพืชและยังสามารถปรับแต่งปริมาณอาหารในปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมกับดินและพืชได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยเคมีก็มีข้อเสียคือ จะไปเร่งการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้จุลินทรีย์บางชนิดที่อาศัยอยู่ในดินลดลง และยังทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารโดยการชะล้างหรือเปลี่ยนเป็นรูปที่พืชใช้ไม่ได้หรือระเหยหายไปในอากาศ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนที่พืชจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ย จึงทำให้พืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอและเป็นเหตุให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นและเกิดการเพิ่มต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อทั้งรากพืชและดิน ซึ่งอาจทำให้พืชตายลงได้และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีกลุ่มนักวิจัยบางส่วนได้คิดค้น วิจัยและพัฒนาปุ๋ยที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ โดยทำให้ปุ๋ยค่อยๆละลายออกมาอย่างช้าๆในปริมาณที่พืชต้องการ เพื่อลดการสูญเสียดังกล่าว โดยทั่วไปจะใช้วัตถุอื่นที่ละลายช้าเป็นตัวห่อหุ้มอยู่ภายนอกหรือใช้สารอินทรีย์ที่มีสมบัติสลายตัวช้าเป็นปุ๋ย ทำให้สามารถใช้ปุ๋ยได้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ดังนั้นปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อยนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของเกษตรกร ที่จะช่วยลดต้นทุนและยังส่งผลดีต่อธรรมชาติ ไม่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ตลอดจนทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีและสูงมากขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย