การลดความสูญเสียในกระบวนการเชื่อมลวดวงจรไฟฟ้า โดยใช้กรอบแนวคิดของการบริหารความเสี่ยง
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดความสูญเสียในกระบวนเชื่อมลวดวงจรไฟฟ้า โดยใช้กรอบแนวคิดของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งกระบวนการเชื่อมลวดวงจรไฟฟ้านี้เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากในการผลิตวงจรรวม เนื่องจากเป็นการเชื่อมวงจรไฟฟ้าในตัววงจรรวมโดยใช้ลวดทองคำหรือทองแดงที่มีขนาดเล็ก และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง โอกาสในการเกิดงานเสียจึงมีมากกว่ากระบวนการอื่นๆ
จากดัชนีชี้วัดสมรรถนะหลักซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของกระบวนการ คือ ปริมาณงานเสียและเวลาสูญเสีย งานวิจัยเริ่มจากการเก็บข้อมูลความสูญเสียย้อนหลัง แล้วใช้แผนภูมิก้างปลาระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากนั้นประเมินความเสี่ยงผ่านแบบสอบถาม เพื่อเรียงลำดับความสำคัญในการจัดการ ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างแผนการจัดการความเสี่ยง โดยใช้การวิเคราะห์แขนงความบกพร่องในการวิเคราะห์หาสาเหตุของความเสี่ยง แล้วใช้แผนผังกลุ่มความคิดในการจัดกลุ่มความเสี่ยงที่มีความคล้ายคลึงกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนจัดการ หลังจากค้นหารากของความเสี่ยงทุกกลุ่มแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการสร้างแผนการจัดการความเสี่ยงขึ้นมา 5 แผน เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในกระบวนการ
หลังการปรับปรุง สามารถลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ นั่นหมายความว่า การนำแผนการจัดการความเสี่ยงไปปฏิบัติสามารถลดระดับความเสี่ยงในการเกิดความสูญเสียในกระบวนการเชื่อมวงจรไฟฟ้าได้ จากของเสีย 6,381 DPM ลดลงเหลือ 5,418 DPM (ลดลง 15.1%) และเวลาสูญเสียจาก 13.58% ลดลงเหลือ 9.65% (ลดลง 3.93%) โดยแผนการทดลองประเมินค่าพารามิเตอร์เป็นแนวทางที่มีผลมากที่สุดในการปรับปรุง
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว