การประยุกต์ใช้เทคนิคการแยกข้อมูลเชิงประจักษ์ร่วมกับวิธีบ๊อก-เจนกินส์และ วิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชันในการพยากรณ์ข้อมูลอนุกรมเวลา

Main Article Content

ธนกร สุทธิสนธ์
สมพร เทพฉิม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้พัฒนาตัวแบบผสมระหว่างตัวแบบ SARIMA และตัวแบบซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชันขึ้นเพื่อทดลองใช้พยากรณ์ปริมาณหน่วยจำหน่ายไฟฟ้ารายเดือนประเภทบ้านอยู่อาศัยของประชาชน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือน พฤษภาคม 2562 จำนวน 137 ค่า ก่อนนำข้อมูลไปสร้างตัวแบบผสม ผู้วิจัยประยุกต์ใช้เทคนิคการแยกข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อลดสัญญาณแกว่งไว (Fast Oscillation) ของข้อมูล การสร้างตัวแบบผสมจะอาศัยจุดเด่นของตัวแบบแต่ละตัว คือ ตัวแบบ SARIMA           มีจุดเด่นในการอธิบายข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงได้ดี ส่วนตัวแบบซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชันมีจุดเด่นในการสร้างฟังก์ชันการทำนายที่ซับซ้อนและอธิบายข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีความสัมพันธ์ไม่เป็นเชิงเส้นตรงได้ดี จากนั้นทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการพยากรณ์กับตัวแบบ 3 ตัวแบบ คือ ตัวแบบอย่างง่าย ตัวแบบ SARIMA และตัวแบบซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชัน ด้วยเกณฑ์การวัดประสิทธิภาพการพยากรณ์ 5 เกณฑ์ ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย รากของค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย ร้อยละของความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย เปอร์เซ็นต์ของมัธยฐานความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ และเปอร์เซ็นต์ของความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ยแบบมาตรฐาน ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ตัวแบบผสมให้ประสิทธิภาพการพยากรณ์ดีกว่าตัวแบบอนุกรมเวลาเชิงเดี่ยว 3 ตัวแบบ ในทุกเกณฑ์การวัดประสิทธิภาพการพยากรณ์ ดังนั้นตัวแบบผสมสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์ข้อมูลอนุกรมเวลาหน่วยจำหน่ายไฟฟ้ารายเดือนประเภทบ้านอยู่อาศัยของประชาชนได้อย่างเหมาะสมและสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจสำหรับการวางแผนการผลิตหรือจำหน่วยไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในอนาคตได้

Article Details

บท
บทความวิจัย