ลักษณะและคุณภาพของน้ำประปาน้ำดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิทและน้ำดื่มที่ให้บริการฟรี ในรัฐนอร์ทดาโคตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาถึงคุณภาพบางประการของน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิทและน้ำดื่มที่ให้บริการฟรีในรัฐนอร์ทดาโคตา ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่าน้ำประปาจำนวน 32 ตัวอย่าง มีความใส ไม่มีกลิ่น มีค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมดและค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 205.00±5.20 - 519.67±2.89 mg/L และ 8.43±0.06 - 10.27±0.21 ตามลำดับ
ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าตัวอย่างน้ำประปาจำนวน 96.88% ในการศึกษาครั้งนี้มีค่าความเป็นกรด-ด่างเกินค่าที่แนะนำ (6.5 - 8.5) โดยองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2554 ส่วนน้ำดื่มที่ให้บริการฟรีจำนวน 32 ตัวอย่าง มีความใสและกลิ่นเหมาะต่อการบริโภค มีค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมดและค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 32.22±0.58 - 890.00±2.65 mg/L และ 8.43±0.12 - 10.57±0.23 ตามลำดับ สรุปได้ว่าน้ำดื่มที่ให้บริการฟรีจำนวน 87.50% ในการศึกษาครั้งนี้มีค่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกรมอนามัย พ.ศ. 2553 เนื่องจากค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 8.5 และน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำดื่มในขวดแกลลอนทั้งหมด 17 ตัวอย่าง มีความใสและกลิ่นเหมาะสมต่อการบริโภค มีการระบุวันหมดอายุ รายละเอียดบนฉลาก ชนิดของพลาสติก มีค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมดและค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 1.00±1.00 - 82.67±1.53 mg/L และ 6.50±0.10 - 10.40±0.00 ตามลำดับ สรุปได้ว่าน้ำดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิทในครั้งนี้จำนวน 5.88% ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) ของประเทศไทย เพราะค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 8.5 ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าน้ำดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิทที่ทำการทดสอบเกือบทั้งหมดมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ ยกเว้นเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทางด้านความเป็นกรด-ด่าง ส่วนน้ำประปาและน้ำดื่มที่ให้บริการฟรีมีคุณสมบัติอื่นที่ดีและมีความสะอาดเหมาะสมต่อการบริโภคเพียงแต่มีค่าความเป็นด่างที่สูงอาจจะเกิดจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีความเป็นด่างซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพและน่าทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว